Published on พฤศจิกายน 28th, 2013 | by Divali
0ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
วันที่ 25 /11/2556 นายสราวุธ พรมโสภา กับพวกรวม 599 คน (ชาวบ้าน อ.วังสะพุง จังหวัดเลย) ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรมและคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งชาวบ้านได้รับความเสียหายต่อคุณภาพชีวิต ความเสียหายต่อพืชผลเกษตรกรรม และคุณภาพทางสิ่งแวดล้อม
ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการ เหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จัดประชุมหมู่บ้านผลักดันกฎระเบียบชุมชนควบคุมน้ำหนักบรรทุก และการนำสารเคมีอันตรายเข้าเขตชุมชน เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้การประกอบกิจการของเหมืองที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อชุมชน หลังสุดทนกับการรอคอยความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการการควบคุมอุตสาหกรรมเหมือง และควบคุมการใช้สารเคมีที่มีพิษอันตรายจากการทำเหมืองที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับอาชญาบัตรพิเศษในการเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย และพบสินแร่ทองคำที่คุ้มค่าสำหรับการทำเหมือง ต่อมาได้รับประทานบัตรหรือหนังสือรับรองให้ทำเหมืองจากกระทรวงอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2545 เป็นเวลา 25 ปี บนพื้นที่ 6 แปลง หรือ1,308 ไร่ ของภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน ก่อนจะเปิดดำเนินการทำเหมืองอย่างเป็นทางการในปี 2549
อย่างไรก็ตามการประกอบกิจการดังกล่าวนำมาสู่การร้องเรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านรอบๆ เหมือง 6 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยผุก หมู่ 1 บ้านกกสะทอน หมู่ 2 บ้านนาหนองบง หมู่ 3 บ้านแก่งหิน หมู่ 4 บ้านโนนผาพุงพัฒนา หมู่ 12 และบ้านภูทับฟ้าพัฒนา และเกิดการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองภายใต้ชื่อ ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ ในปี 2550 หน้าที่ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติบริเวณรอบเหมือง รวมถึงการเฝ้าระวังเตือนภัยเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน