Published on มิถุนายน 8th, 2017 | by Divali
08 มิถุนายน “วันทะเลโลก” (World Ocean Day) : Our Oceans, Our Future
“วันทะเลโลก” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2535 โดยความร่วมมือของ กลุ่มประชาคมโลก (The Earth Summit) ประเทศบราซิล เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของท้องทะเลและมหาสมุทร ในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่มาก รวมทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนทั่วโลกมานานนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งธีมสำหรับวันทะเลโลกปีนี้ คือ Our Oceans, Our Future รณรงค์การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทางทะเล
สถานการณ์ของมหาสมุทรของโลกเราในขณะนี้อยู่ในภาวะเกือบวิกฤต ทั้งในเรื่องของอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นผลจากภาวะโลกร้อน และในเรื่องของขยะทางทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มากถึง 8 พันล้านตัน ที่ถูกทิ้งลงทะเลในแต่ละปี ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้จะลอยอยู่ในทะเลนานถึง 405 ปี กว่าจะย่อยสลายและกว่า 88% ของขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลเป็นขยะที่มาจากพื้นดิน
สำหรับประเทศไทย เรามีทะเลที่สวยติดอันดับโลก ได้แก่ อ่าวมาหยา จังหวัดกระบี่ ถูกจัดอันดับให้เป็นทะเลที่สวยเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ติดอันดับ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งมากถึง 1 ล้านตันต่อปี โดยขยะในทะเลส่วนใหญ่มาจากแหล่งท่องเที่ยว เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม เป็นต้น ถัดมาคือขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก เป็นต้น การตระหนักถึงความสำคัญของวันทะเลโลกอย่างแท้จริง เริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการร่วมมือกันอนุรักษ์ท้องทะเล ตามคำแนะนำของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ดังนี้
1.ไม่จับสัตว์ทะเลหรือเก็บเปลือกหอยกลับบ้าน ปล่อยให้มันอยู่กับทะเล เพื่อแบ่งปันความความสวยงามให้ผู้อื่นได้พบเห็นภายหลัง โดยคุณอาจเลือกวิธีถ่ายภาพเก็บความประทับใจไว้แทนได้
2. ไม่ทิ้งเศษขยะ เศษอาหาร ถุงพลาสติก ลงในชายหาดและในทะเล เพราะหากสัตว์ทะเลกินเข้าไปจะทำให้สัตว์ป่วยและเสียชีวิต
3. ไม่ควรปล่อยน้ำเสียจากการซักล้างหรือน้ำปนเปื้อนสารพิษลงท่อระบายน้ำที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการบำบัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะท้ายที่สุดมันจะไหลลงสู่ทะเล
4. ตรวจสอบเรือก่อนออกจากฝั่ง หากมีรอยรั่วของถังเก็บน้ำมันต้องซ่อมแซมก่อน เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคราบน้ำมันบนพื้นผิวทะเล
5. หากคุณดำน้ำเพื่อชมปะการัง ไม่ควรจับต้องสัตว์ทะเล พืชทะเล เพราะอาจเป็นการทำร้ายสัตว์และพืชทะเลโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งยังเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษอีกด้วย
6. อย่าปล่อยโคมลอย ลูกโป่ง ขึ้นบนอากาศ เพราะหากมันตกลงทะเล สัตว์ทะเลจะเข้าใจว่าเป็นอาหารและกินเข้าไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์ทะเลเสียชีวิต
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทางแก้ที่ยั่งยืนของปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ ไปจนถึงการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในระดับบุคคล เช่น มีการจัดการขยะที่ดี การออกแบบที่ใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด หรือแม้แต่การที่สาธารณชนมีความตระหนักในการบริโภค ลดและเลิกใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เพราะการจัดการที่ปลายเหตุ หลังจากขยะเกิดขึ้นแล้วนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ข้อมูล : nwnt.prd.go.th
ภาพ : zllox.com