Published on ธันวาคม 13th, 2016 | by Divali
0กฟผ.ชี้แจงค่าไฟฟ้าถ่านหินถูกกว่าแอลเอ็นจี อย่างน้อย 40 สต.
กฟผ.ชี้แจงค่าไฟฟ้าถ่านหินถูกกว่าแอลเอ็นจี อย่างน้อย 40 สต.
-กฟผ.แจงพร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐเรื่อง โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ย้ำค่าไฟ ปี 2564-2565 ถ่านหินถูกกว่าแอลเอ็นจี 40 สต.ต่อหน่วย ยกตัวอย่างมาเลเซียยังสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม้จะเป็นผู้ส่งออกแอลเอ็นจี
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.กล่าวว่าในขณะนี้เร่งรวบรวมข้อมูลทุกด้านรวมทั้งความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ เพื่อเสนอรัฐบาลประกอบการตัดสินใจจะเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ทั้งกระบี่ และเทพาอย่างไร โดยยืนยันว่า โรงไฟฟ้าในภาคใต้จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้เพิ่มขึ้น แต่กำลังผลิตไม่เพียงพอ ซึ่งกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต สส.ประชาธิปัตย์เสนอใช้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซแอลเอ็นจี เพราะต้นทุนก่อสร้างถูกกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง แต่หากรวมค่าเชื้อเพลิงระยะยาวแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหิน ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะถูกกว่า
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันพลังงาน IHS ENERGY ศึกษาแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจีและถ่านหิน พบว่า ราคาแอลเอ็นจีที่ลดลงในช่วง2 ปีเศษที่ผ่านมาจากการพบ SHALE GAS ในสหรัฐ ทำให้ราคาแอลเอ็นจี ปี 2559 เป็นปีที่ต่ำสุด และในปีหน้าราคาจะค่อยๆทยอยปรับขึ้น
ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงถ่านหินแล้ว เฉพาะปี 2564-2565 ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินประเมินว่าจะถูกกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซแอลเอ็นจีประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย โดยหากคำนวณเฉพาะโรงไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้าจากถ่านหินจะถูกกว่า 3,000ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญการใช้ถ่านหินก็เป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาก๊าซมาเกินไป ซึ่งเรื่องนี้นายกรณ์น่าจะทราบดี
“ยอมรับว่าปีนี้แอลเอ็นจีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับถ่านหินต้นทุนอาจไม่ต่างกัน แต่จากแนวโน้มราคาแอลเอ็นจีก็จะปรับขึ้น ค่าไฟฟ้าจะสูงกว่าถ่านหิน ประชาชนจะจ่ายแพงกว่า และที่สำคัญเราพึ่งพาก๊าซผลิตไฟฟ้าแล้วร้อยละ 67 หากพึ่งพามากขึ้นก็เป็นความเสี่ยง เราควรบริหารความเสี่ยงด้วยการพึ่งพาเชื้อ เพลิงอื่นๆ และถ่านหินก็เป็นเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัดส่วนกำลังผลิตจากเชื้อ เพลิงก๊าซธรรมชาติสูงถึงร้อยละ 67 ถ้าไม่มีก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย จะทำใหกำลังผลิตหายไปประมาณ10,500 เมกะวัตต์, ถ้าไม่มีก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ จะทำให้ กำลังผลิตหายไปประมาณ 6,000 เมกะวัตต์, ถ้า ไม่มีก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA จะทำใหกำลังผลิตหายไปประมาณ1,500 เมกะวัตต์ การพึ่งพาดังกล่าวทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่ จะเกิดไฟดับหากว่าระบบส่งก๊าซธรรมชาติมีปัญหา จึงจำเป็นต้องกระจายความเสียงไปใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายขึ้น
นอกจากนี้ ทั่วโลกยังมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น เช่น มาเลเซีย ที่ส่งออก LNG และมีก๊าซฯ เป็นจำนวนมาก ยังสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในสัดส่วนร้อยละ 26 ของกำลังผลิต ในขณะที่ไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 แบ่งเป็นสัดส่วนจากในประเทศเพียงร้อยละ 11.39 และจาก โรงไฟฟ้า หงสา สปป.ลาวร้อยละ 3.5 แม้แต่ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ก็อยู่ในระหว่างสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นจำนวนมาก หรือตัวอย่างของประเทศเวียดนาม ปัจจุบันได้ยกเลิก โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โดยหันไปพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินแทน
โดยในเรื่องการจัดการเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนทั่วโลกก็ให้ความสำคัญประเทศไทยก็ให้ความสำคัญเช่นกัน แต่การกระจายเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคง รวมทั้งดูแลภาคประชาชนไม่ให้ค่าไฟฟ้าแพงมากเกินไปก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการด้วย
“กฟผ คงไม่ได้ทำประชามติ ถามความเห็นชาวกระบี่ แต่จะรวบรวมความเห็นด้วยรูปแบบ อื่นๆเราก็ติดตามการเคลื่อนไหวของชุมชนอยู่ว่าเขาทำอะไรแล้วรายงานให้รัฐบาลทราบ ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนให้สร้าง ถ้ารัฐบาลจะไม่ให้สร้างก็ต้องด้วยสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นไม่ใช่มีสาเหตมาจากชุมชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ แต่ถ้ารัฐตัดสินไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ต้องเลือกพื้นที่อื่นสร้างแทน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งถ่านหินและก๊าซฯ แต่กรณีกระบี่ต่อให้ใช้แอลเอ็นจีก็ต้องใช้เรือขนส่งเช่นเดียวกับถ่านหิน”
ภาพและข่าว : www.egat.co.th