Published on ธันวาคม 8th, 2016 | by Divali
0กฟผ.จัดสถานศึกษาเป็นคนกลาง จัดลงประชามติคนกระบี่ อา หรือ ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่.
กฟผ.ดึงสถาบันศึกษาเป็นคนกลาง จัดลงประชามติคนกระบี่ เอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีในขณะที่อดีตรัฐมนตรีคลัง พรรคประชาธิปัตย์“กรณ์ จาติกวนิช “โพสต์เฟซบุคส่วนตัว ระบุไปยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินและหนุนสร้างโรงไฟฟ้าใช้LNG นำเข้าในพื้นที่ภาคใต้ควบคู่การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนทดแทน
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามการสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งให้มีการชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่เอาไว้ก่อน เพื่อให้กฟผ.กลับไปถามความต้องการส่วนใหญ่ของคนกระบี่ ว่า กฟผ.ได้เตรียมแนวทางสอบถามความเห็นชาวจังหวัดกระบี่ว่าต้องการจะให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ โดยเบื้องต้นอาจใช้วิธีการลงคะแนนเสียงหาประชามติร่วมกัน เพื่อนำผลโหวตที่เป็นเสียงส่วนใหญ่มาเป็นเครื่องตัดสินซึ่งน่าจะช่วยให้เกิดความชัดเจนมากที่สุด
อย่างไรก็ตามในการจัดทำผลโหวตนั้น กฟผ.อาจมอบหมายให้หน่วยงานกลาง เช่น สถาบันศึกษาเข้ามาทำหน้าที่นี้ เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งการคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่จะมาเป็นหน่วยงานกลางนั้น จะต้องไม่ใช่สถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กระบี่ โดยคาดว่าจะคัดเลือกเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2559 นี้
ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) แทนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ถึงแม้ว่าจะดำเนินการได้ง่ายและรวดเร็วกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจริง เพราะการต่อต้านจากสังคมน้อยกว่า แต่ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับถ่านหิน และจะกระทบค่าไฟฟ้าระยะยาว โดยทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมสูงกว่า 4 บาทต่อหน่วยแน่นอน ซึ่งประชาชนที่ไม่พร้อมจะจ่ายค่าไฟฟ้าสูงๆ มีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่พร้อมจะจ่ายค่าไฟแพง ส่วนที่บอกว่าจะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในภาคใต้นั้น ก็ยังไม่เพียงพอและยังเป็นพลังงานที่ไม่มั่นคงอยู่ ดังนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่แพงเกินไปและมีปริมาณเชื้อเพลิงมากเพียงพอใช้ในระยะยาวได้
“ผมกังวลว่า คนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มีการแสดงออกที่รุนแรง ขณะที่คนสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่กลับแสดงออกน้อย เปรียบเหมือนรักนะแต่ไม่แสดงออก ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่เห็นความชัดเจนและตัดสินใจไม่ถูก”นายบุญญนิตย์ กล่าว
ในขณะที่นายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุคส่วนตัว เมื่อวันที่7ธ.ค.2559 ในห้อข้อ “ยกเลิกถ่านหิน เปลี่ยนเป็น LNG ดีกว่า ถูกกว่า ทำได้เร็วกว่า” โดยนายกรณ์ ระบุว่า ในวันที่7ธ.ค. ตัวเขาได้ไปยื่นข้อเสนอร่วมกับอดีตสส.สงขลาและกระบี่ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้รัฐบาลเปลี่ยนจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเป็นการใช้ LNG โดยข้อเสนอดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เคยเกริ่นนำ กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบก่อนแล้ว
นายกรณ์ อธิบายว่า ทีมนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ปรึกษากับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสงขลาและกระบี่
ในประเด็นที่เกี่ยวกับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา โดยมีข้อเสนอที่จะให้มีการพัฒนาโครงการ LNG แทนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินชายฝั่งทะเลภาคใต้ และสนับสนุนให้มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเห็นว่า สถานการณ์ทางด้านพลังงานและเชื้อเพลิงในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สมมติฐานที่ทาง ราชการ เคยใช้เพื่อตัดสินใจการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าควรที่จะต้องมีการทบทวนและปรับปรุง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ทั้งนี้นายกรณ์ได้ให้เหตุผลถึงการสนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้LNG เป็นเชื้อเพลิง ด้วยกัน6ข้อดังนี้
1. LNG เป็นเชื้อเพลิงที่มีแหล่งผลิตที่หลากหลาย ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง มีตลาดซื้อขายที่พัฒนา จึงทำให้ลดความเสี่ยงในด้านการจัดหา และนับเป็นการกระจายความเสี่ยงในเรื่องแหล่งผลิต
2. ราคา LNG และราคาถ่านหินในปัจจุบันทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากLNG ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจากถ่านหิน
3. เงินลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้า LNG ต่ำกว่าเงินลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประมาณ 50%
4. การก่อสร้างโรงไฟฟ้า LNG ใช้ระยะเวลาในการขออนุญาติและก่อสร้างเพียง 48 เดือน เทียบกับระยะเวลาในการขออนุญาติและก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ 80 เดือน
5. การก่อสร้าง LNG Receiving Terminal ในภาคใต้จะเสริมความมั่นคงให้ประเทศ จากปัจจุบันที่มีการนำเข้า LNG ที่ระยองเพียงจุดเดียว
6. การยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของไทยในการแสดงความตั้งใจที่จะช่วยลดภาวะเรือนกระจก
Cr.Energy news