Energy

Published on มิถุนายน 16th, 2016 | by Divali

0

กฟผ. เดินหน้ากระบวนการมีส่วนร่วมโครงการโรงไฟฟ้าเทพา ชี้แจงคณะกรรมการอิสลามภาคใต้ 5 จังหวัด เตรียมพัฒนาพื้นที่ 600 ไร่ เป็นแหล่งท่องเที่ยว

กฟผ. เดินหน้ากระบวนการมีส่วนร่วมโครงการโรงไฟฟ้าเทพา ชี้แจงคณะกรรมการอิสลามภาคใต้ 5 จังหวัด เตรียมพัฒนาพื้นที่ 600 ไร่ เป็นแหล่งท่องเที่ยว

Created: Tuesday, 31 May 2016 13:09

          ผู้นำศาสนาแสดงความพอใจที่ กฟผ. ชัดเจนเรื่องการพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ และไม่ย้ายกุโบร์ มัสยิด ด้าน กฟผ. ยืนยันพร้อมจัดทำธรรมนูญร่วมกับชุมชนในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน เพื่อสร้างความมั่นใจ ในการดำเนินงานตลอดระยะเวลาโครงการ รวมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ตอนล่าง

20160531-P01-01

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2559 กฟผ. ชี้แจงข้อมูลการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทพา ต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล กว่า 400 คน ในการจัดเสวนา หัวข้อ “ก้าวไปด้วยกันกับโรงไฟฟ้าเทพา สู่การพัฒนาภาคใต้ที่มั่นคง” โดยมีนายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม นายพล คงเสือ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 3 นายวีระชัย ยอดเพชร หัวหน้าโครงการเตรียมงานพัฒนาโรงไฟฟ้าเทพา นายนฤมิต คินิมาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ เป็นผู้ร่วมเสวนา และนายอับบาส บิณอิบรอฮิม ประธานศูนย์ประสานงานญาลันนันบารู อ.เทพา จ.สงขลา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยมีนายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับและเป็นประธานเปิดการเสวนา ณ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

20160531-P01-02

นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวเปิดการเสวนาว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านจะได้รับฟังข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าใหม่อีกแห่งหนึ่งในภาคใต้ การเสวนาในวันนี้ จะเป็นช่องทางที่จะให้ทุกท่านสามารถนำเสนอข้อคิดเห็น และข้อห่วงกังวลต่างๆ เพื่อให้เกิดการดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าเทพาเป็นไปอย่างสมบูรณ์ และมีการดูแลสังคม และชุมชนในภาคใต้ของเราอย่างดีที่สุดต่อไป ทั้งนี้ พลังงานไฟฟ้ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตและความสะดวกสบายของประชาชนใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมแก่การพัฒนา

20160531-P01-03

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงความจำเป็นของการพัฒนา โครงการโรงไฟฟ้าเทพา ว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 ทุกปี โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าภาคอื่นถึงร้อยละ 5 ในขณะที่ภาคใต้ต้องรับไฟฟ้าจากภาคกลางมาช่วยเสริมส่วนหนึ่ง จึงควรต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักในพื้นที่ ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าเทพาจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดที่ทันสมัยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน นอกจากนี้ ชุมชนจะต้องได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเต็มที่ และมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน โดยเห็นได้จากโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะในปัจจุบันมีการติดตั้งเทคโนโลยีกำจัดมลสารที่ทันสมัย จึงมีคุณภาพอากาศดีกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการดูแลชุมชน ทั้งในเรื่องการสร้างงานและอาชีพอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่โรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างกลมกลืน

20160531-P01-04

นายพล คงเสือ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 3 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. จะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา กฟผ. จึงเดินหน้าสร้างความเข้าใจ ตั้งแต่เริ่มสำรวจโครงการ จนกระทั่งปัจจุบัน และยึดถือโจทย์ของรัฐบาล ในการพัฒนาโรงไฟฟ้า 3 ข้อ คือ ประเทศชาติจะต้องได้ประโยชน์ กฟผ. ต้องใช้เทคโนโลยีดีที่สุด ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนในพื้นที่ต้องได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ กฟผ. จะรับคนในพื้นที่เข้าทำงานให้มากที่สุด โดยเฉพาะในระดับปฏิบัติการ อีกทั้งโรงไฟฟ้าเทพา ได้ออกแบบติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งสามารถรองรับเชื้อเพลิงชีวมวลได้ 215 ตันต่อวัน ซึ่งชุมชนจะได้รับประโยชน์จากรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง โดย กฟผ. พร้อมพูดคุยกับชุมชนในการจัดทำธรรมนูญร่วมกันต่อไป

20160531-P01-05

นายวีระชัย ยอดเพชร หัวหน้าโครงการเตรียมงานพัฒนาโรงไฟฟ้าเทพา กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จะเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียวที่จะมีแหล่งท่องเที่ยว เพื่อพักผ่อนหย่อนใจบนพื้นที่เกือบ 600 ไร่ ให้ชุมชนได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ผ่านมา กฟผ. มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชน อ.เทพา และขอยืนยันว่า กฟผ. ไม่มีการย้ายมัสยิดหรือกุโบร์อย่างแน่นอน

20160531-P01-06

ด้านพลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรับฟังการเสวนาในครั้งนี้ ทำให้ผู้นำศาสนาหมดความกังวลใจ และเชื่อมั่นว่า กฟผ. จะไม่มีการย้าย กุโบร์ (สุสาน) และมัสยิดในพื้นที่อย่างแน่นอน ส่วนใน เรื่องอื่น ๆ เช่น การบริหารกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่ การจ้างงาน ขอฝากให้ กฟผ. ให้ความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่ที่จะต้องได้รับประโยชน์ก่อน และควรจะต้องมีธรรมนูญร่วมกันเพื่อเป็นหลักประกันว่า กฟผ. จะดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงท้ายของการเสวนา นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี ได้กล่าวขอบคุณผู้นำศาสนาที่ให้โอกาส กฟผ. มาชี้แจง ซึ่งความสุขของคนไทย ไม่ได้มาจากการมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคงเท่านั้น ชุมชนหรือผู้ที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าจะต้องมีความสุขด้วย โรงไฟฟ้าและชุมชนจะต้องก้าวไปข้างหน้าและเติบโตไปด้วยกัน

ข้อมูล  : www.egat.co.th

Please follow and like us:
Pin Share

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑