Published on มีนาคม 23rd, 2014 | by Divali
0BLCP ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินมาบตาพุด
บีแอลซีพี เปิดแผนลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1 พันเมกะวัตต์ ในพื้นที่มาบตาพุด ระยะที่ 2 มูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว หวังเตรียมความพร้อมรองรับแผนพีดีพีฉบับใหม่ประกาศ พร้อมยื่นประมูลทันที “ชนินท์”เผยธุรกิจไฟฟ้า ช่วยกระจายความเสี่ยงช่วงราคาถ่านหินอ่อนตัว สร้างความยั่งยืนให้กับบ้านปู
นายประพันธ์ ลิขิตวัชรปกรณ์กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก้ในสัดส่วนฝ่ายละ 50% เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทมีแผนที่จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังผลิต 1 พันเมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2.5-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 8-9.6 หมื่นล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาท) ซึ่งได้เริ่มจัดทำรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดระยองไป 2 ครั้งนี้แล้ว และยังจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี ตามแผนพีดีพีที่จะประกาศออกมา
alt “เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและการทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ต้องอาศัยเวลาในการดำเนินงานพอสมควร หากบ้านปูดำเนินการได้ก่อนจะมีความได้เปรียบกับคู่แข่งขัน อีกทั้งพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะใช้พื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันซึ่งในส่วนนี้ก็มีข้อกำหนดการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่มาบตาพุด ผู้ประกอบการจะต้องลดอัตราการระบายมลพิษจากค่าที่ดำเนินการได้จริงลง 80%และอีก 20% จะต้องคืนให้กับสิ่งแวดล้อมซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้จะช่วยให้การระบายมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดลดลงแม้จะมีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้น”
ด้านนายชนินท์ ว่องกุศลกิจประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปูจำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่บ้านปูต้องการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี ระยะที่ 2 นี้ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1.4 พันเมกะวัตต์ เนื่องจากธุรกิจไฟฟ้ามีผลประกอบการค่อนข้างดีสามารถช่วยเพิ่มกระแสเงินสดที่จำเป็นแก่บริษัท ในช่วงที่ราคาถ่านหินอ่อนตัว จึงมองว่าธุรกิจไฟฟ้าจะยังมีบทบาทสำคัญต่อความยั่งยืนและยุทธศาสตร์การเติบโตของบ้านปูในระยะต่อไป
ขณะที่ธุรกิจถ่านหินนั้น แม้ว่าราคาถ่านหินจะอ่อนตัวลงในระยะสั้นซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 75-90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่ในภาพรวมแล้วโครงสร้างราคาถ่านหินยังมีความแข็งแกร่งในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากเศรษฐกิจของเอเชียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ราบรื่นนักก็ตาม แต่จะยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกไปจนถึงกลางศตวรรษนี้ การใช้ถ่านหินในประเทศจีนและอินเดียเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อตลาดถ่านหินในภูมิภาค นอกจากนี้คาดว่าการนำเข้าถ่านหินของประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ จะสูงขึ้นอย่างมากในอีก 20 ปีข้างหน้า
“ในปี 2557 นี้ บ้านปูตั้งเป้าหมายการผลิตและจำหน่ายถ่านหินจากแหล่งผลิตในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลียและจีน รวมประมาณ 48 ล้านตันโดยบริษัทจะยังคงเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และระบบการขนส่งรวมทั้งเดินหน้าลดต้นทุนการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้แหล่งผลิตถ่านหินในอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนลงอีก 5% และ 4% ตามลำดับในปีนี้”
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานหรือ สนพ. เปิดเผยว่า สำหรับแผนพีดีพี2014 ดังกล่าวเบื้องต้นจะลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าลงเหลือ 35-40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 70% ซึ่งจะพิจารณาลดในส่วนของโรงไฟฟ้าก๊าซที่จะหมดอายุสัญญา จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 1.3 หมื่นเมกะวัตต์ ให้คงเหลือเพียงครึ่งเดียว หรือเหลือเพียง 6.5 พันเมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนอีก 6.5 พันเมกะวัตต์ จะเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นแทนอาทิ ถ่านหิน นํ้า และรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันในแผนจะเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเป็น 30-35% จากปัจจุบันมีสัดส่วนไม่ถึง20%
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,931 วันที่ 16 – 19 มีนาคม พ.ศ. 2557