Published on กุมภาพันธ์ 7th, 2014 | by Divali
0หนุน รร.ชูอาหารคุณภาพ แก้ปัญหาสุขภาวะเด็กไทย
หนุน รร.ชูอาหารคุณภาพ แก้ปัญหาสุขภาวะเด็กไทย
โภชนาการของเด็กไทยวันนี้ คืออนาคตของชาติในวันหน้า ปัจจุบันพบว่าเด็กของชาติมีไอคิวต่ำกว่าเพื่อนบ้านบางประเทศ เพราะได้รับการส่งเสริมด้านอาหารไม่ถูกต้อง รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ มากมายที่ทำให้ไม่สามารถจัดสรรอาหารได้ตามหลักมาตรฐาน อาทิ พ่อแม่ไม่มีเวลาใส่ใจ เอาง่ายเข้าว่า ขาดความเข้าใจเรื่องโภชนาการ พบพฤติกรรมบริโภคของเด็กยุคใหม่ที่นิยมอาหารขยะตามโฆษณาชวนเชื่อมากมาย รวมทั้งไม่มีงบประมาณอุดหนุนอาหารในโรงเรียนอย่างเพียงพอ
เมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (Food and Nutrition Policy for Health Promotion; FHP) สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 2 เรื่อง “การจัดการอาหารโรงเรียน”
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเปิดงานประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 2 ของแผนงาน FHP เรื่อง “การจัดการอาหารโรงเรียน” ว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โครงการโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม โครงการอาหารกลางวัน แต่การจัดการอาหารโรงเรียนยังมีทั้งโอกาสและความท้าทายอยู่เช่นเดียวกับ ประเทศ อื่นๆ
แต่ประเทศไทยยังคงต้องการกลไกที่มี ประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาความเข้มแข็ง และส่งเสริมนโยบายและกลยุทธ์ที่จะสนับสนุนให้กับกระทรวงสาธารณสุขและภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้เด็กของเรารับมือกับการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม และมีนิสัยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ ผู้เข้าร่วมทุกคนที่จะมีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพทางโภชนาการและการแก้ปัญหาในอนาคตที่ พึงประสงค์ และมีความยั่งยืนในการบริหารจัดการอาหารโรงเรียนในประเทศไทยและประเทศเพื่อน บ้านต่อไป ที่กำลังจะเข้าสู่การเปิดประชาคมอาเซียน หรือ AEC
ด้าน นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เสริมว่า การประชุมวิชาการประจำปีของแผนงาน FHP จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมของการดำเนินการ จัดการอาหารในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2556-2557 นี้ และเชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาคีเครือข่าย และทำให้เกิดการสนับสนุนการจัดการที่ดี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปรับปรุงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และลดโรคอ้วนในเด็กนักเรียนและประชาชนไทยในอนาคต
รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภาวะโภชนาการเด็กและการจัดการอาหารโรงเรียน ว่า โรงเรียนเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญมากกับสุขภาวะของเด็ก การจัดการอาหารและสิ่งแวดล้อมอื่นในโรงเรียนมีอิทธิพลสูงต่อภาวะโภชนาการและ นิสัยการกินของนักเรียน เช่น ในปี พ.ศ.2549 โรงเรียนที่จัดผลไม้ให้กับเด็กอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ มีความชุกของเด็กอ้วนน้อยกว่าโรงเรียนที่ไม่จัดผลไม้ และโรงเรียนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทเครื่องดื่มและขนมในการทำกิจกรรม ในโรงเรียน มีเด็กอ้วนเป็น 1.5 เท่าของโรงเรียนที่ไม่รับ
หากต้องการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมี โภชนาการสมวัยพร้อมสำหรับการพัฒนาสติปัญญาให้เต็มศักยภาพ โรงเรียนควรมีนโยบายสนับสนุนการกินอาหารชูสุขภาพ ควบคุมการตลาดของอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมสูง และประสานความร่วมมือกับครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืนของระบบจัดการอาหารที่มีคุณภาพ
ล่าสุดมีทิศทางเรื่องอาหารกลางวันที่ดีขึ้น เมื่อที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนออนุมัติให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปรับเพิ่มงบประมาณสำหรับโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารในปีงบประมาณ 2557 โดยปรับเพิ่มจาก 13 บาทต่อคนต่อวัน เป็น 20 บาทต่อคนต่อวัน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 24,775 ล้านบาท
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเมื่อปรับค่าอาหารเป็น 20 บาท คุณภาพในโรงเรียนจะอาหารดีขึ้นหรือไม่ เพราะยังไม่ได้มีการสำรวจ แต่จากข้อมูลเดิมของมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้เคยตรวจสอบคุณภาพอาหารครั้งที่มีการสนับสนุนเพียงวันละ 13 บาท พบว่าคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานทางด้านโภชนาการทุกด้าน โดยเฉลี่ยแล้วเด็กควรได้รับสารอาหารเต็ม 100% แต่กลับได้รับ 74% และยังพบการปรุงอาหารในโรงเรียนไม่ครบ 5 หมู่ รวมทั้งความหวาน มัน และเค็มจัดมากเกินไป ที่สำคัญเด็กได้รับประทานผักและผลไม้น้อยมาก ทำให้ไม่ได้รับใยอาหารอย่างเพียงพอ
ดังนั้นเมื่อมีการปรับค่าราคาเป็น 20 บาทแล้ว สิ่งที่ควรเสนอและให้โรงเรียนปรับปรุงคือ เสริมสร้างความรู้ให้แม่ครัว หรือครูที่รับผิดชอบด้านอาหารโรงเรียน ให้มีความรู้ทางด้านโภชนาการด้านอาหารอย่างถูกต้อง โดยจัดหาอาหารที่มีประโยชน์ทุกมื้อ และมีผักเป็นองค์ประกอบ รวมทั้งมีผลไม้เป็นส่วนประกอบสัปดาห์ละ 3 วัน จัดให้มีไข่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน หรือจัดให้มีทุกวันได้ยิ่งดี พร้อมกับใส่ตับหมูหรือไก่ รวมทั้งเนื้อปลา ลงไปสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อเพิ่มธาตุเหล็กให้แก่เด็ก ป้องกันเป็นโรคโลหิตจาง
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันโรงเรียนควรไปขอการสนับสนุนจากท้องถิ่น อย่างเช่น อบต. เพื่อขอเงินสนับสนุนเพิ่มเติมให้จัดหาอาหารได้มากกว่าราคา 20 บาท และที่สำคัญควรสอนพฤติกรรมการกินที่ถูกต้องให้แก่เด็กเป็นความรู้ติดตัวพวก เขาตลอดไปในอนาคต จะได้ไม่หลงเชื่อการโฆษณาของอาหารขยะที่มีกลยุทธ์มากมาย
“โรงเรียนต้องยกเลิกวิธีประมูลการทำอาหาร ให้เด็ก เพราะจะได้ผู้รับเหมาในราคาต่ำ อย่างเช่น ผู้ได้งานสามารถทำอาหารมื้อละ 14 บาท และอยากถามว่าเงินที่เหลือ 6 บาทหายไปไหน ดังนั้นจึงอยากเสนอให้โรงเรียนทำอาหารเอง และใช้งบประมาณอย่างเต็มที่ คือไม่น้อยกว่า 20 บาท เพื่อให้เกิดคุณภาพ หรือหากเป็นได้ควรจัดให้มีนักโภชนาการประจำตำบลเพื่อดูแลอาหารการกินของเด็ก ในโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ อย่างในประเทศญี่ปุ่น เขามีนักโภชนาการประจำโรงเรียนเลยทีเดียว” ผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สสส.ระบุ
ต้องจับตาดูว่าเมื่องบด้านอาหารของเด็กได้ เพิ่มขึ้นแล้ว สุขภาวะของเยาวชนไทยจะดีขึ้นหรือไม่ หรือเป็นการเปิดช่องให้เกิดเงินทอนตกอยู่ในกระเป๋าใคร.
“โรงเรียนต้องยกเลิกวิธีประมูลการทำอาหาร ให้เด็ก เพราะจะได้ผู้รับเหมาในราคาต่ำ อย่างเช่น ผู้ได้งานสามารถทำอาหารมื้อละ 14 บาท และอยากถามว่าเงินที่เหลือ 6 บาทหายไปไหน ดังนั้นจึงอยากเสนอให้โรงเรียนทำอาหารเอง และใช้งบประมาณอย่างเต็มที่ คือไม่น้อยกว่า 20 บาท เพื่อให้เกิดคุณภาพ”