Published on กุมภาพันธ์ 7th, 2014 | by Divali
0กฟผ.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ครั้งที่ 1 (ค.1)
กฟผ.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย
โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ครั้งที่ 1 (ค.1)
วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2557
ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพิจารณาคัดเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP) ปี พ.ศ. 2553-2573 ในพื้นที่บริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้ากระบี่เดิม ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ขนาดกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 870 เมกะวัตต์ (กำลังผลิตสุทธิ 800 เมกะวัตต์) โดยใช้ถ่านหินนำเข้าคุณภาพดีเป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในภาคใต้ โดย กฟผ. ได้กำหนดให้มีการจัดรับฟังความคิดห็นผู้มีส่วนได้เสีย และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ของโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ครั้งที่ 1 ( ค.1) ในวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2557 เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป ณ โรงเรียนบ้านคลองรั้ว หมู่ที่ 1 ตำบล ตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่
สำหรับ โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เป็นทางเลือกหนึ่งในการขนถ่ายถ่านหิน ตามที่เป็นข้อเสนอเบื้องต้นจากประชาชนในพื้นที่ ตั้งอยู่ที่บริเวณคลังน้ำมันบ้านคลองรั้วของ กฟผ. บ้านคลองรั้ว ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้ากระบี่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ 8.4 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อรับขนถ่ายถ่านหินจากเรือบรรทุกถ่านหินขนาด 3,000 เดทเวทตัน (Deadweight Tonnage; DWT) (น้ำหนักบรรทุกรวม ซึ่งหมายถึงสินค้าที่บรรทุก น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น น้ำจืด เสบียงอาหารแห้ง เสบียงอาหารสด ลูกเรือ และผู้โดยสาร ) โดยที่รับขนถ่ายถ่านหินนำเข้าคุณภาพดีมาจากเรือบรรทุกถ่านหินขนาด 50,000-100,000 เดทเวทตัน ที่จุดขนถ่ายกลางทะเล จากนั้นจะขนส่งถ่านหินด้วยระบบสายพานลำเลียงไปยังอาคารเก็บถ่านหินหลักแบบปิดในบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้ากระบี่
ทั้งนี้ โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เป็นโครงการหรือกิจการที่ต้องศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ที่ประกาศให้โครงการท่าเทียบเรือ ที่รับเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอส หรือความยาวหน้าท่า ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวมตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป เป็นโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รายละเอียดของโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วที่จะทำการการศึกษา นั้น ประกอบด้วย ตัวท่าเทียบเรือและสะพานเชื่อมท่าเทียบเรือ โดยมีพื้นที่หลังท่าเทียบเรือสำหรับระบบขนถ่ายและลำเลียงถ่านหิน อยู่ในบริเวณเดียวกันกับคลังน้ำมันบ้านคลองรั้ว รวมทั้ง อาคารสำนักงาน อาคารเก็บถ่านหินสำรอง ระบบสายพานลำเลียงถ่านหิน พื้นที่ลานกองวัสดุอุปกรณ์ พื้นที่สีเขียว และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น ถนน ลานจอดรถ ระบบบำบัดน้ำเสีย โดยท่าเทียบเรือและสะพานเชื่อมท่าเทียบเรือนั้นจะประกอบด้วยลักษณะโครงสร้างของท่าเทียบเรือและจุดจอดเรือบรรทุกถ่านหินขนาด 3,000 เดทเวทตัน สะพานเชื่อมท่าเทียบเรือ ขนาดเรือบรรทุกถ่านหินขนาด 3,000 เดทเวทตัน และความลึกหน้าท่า ศึกษาจำนวนหลักผูกเรือ บริเวณจุดจอดเรือและการขนถ่ายถ่านหินกลางทะเล ระบบขนถ่ายลำเลียงถ่านหิน อุปกรณ์ขนถ่ายถ่านหิน ตลอดจนการศึกษาแนวเส้นทางระบบสายพานลำเลียงถ่านหินจากท่าเทียบเรือคลองรั้วไปโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยมีความยาวของสายพานลำเลียงจากท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วถึงอาคารเก็บถ่านหินบริเวณโรงไฟฟ้าประมาณ 8.4 กิโลเมตร และมีแนวเขตทางตามแนวสายพาน กว้างประมาณ 50 เมตร
การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียของโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว กฟผ. ได้กำหนดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรวม 3 ครั้ง คือ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่1 ( ค.1) จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2557 เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป ณ โรงเรียนบ้านคลองรั้ว หมู่ที่ 1 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดย กฟผ. จะใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ชี้แจงความเป็นมาและรายละเอียดในการดำเนินโครงการ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อวิตกกังวล และข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำมาประกอบการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปอย่างครบถ้วนและรอบด้านมากที่สุด ส่วนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 (ค.2) จะป็นการลงพื้นที่สำรวจและรับฟังความคิดเห็นภาคสนาม จากผู้นำชุมชน หัวหน้าครัวเรือน และประชาชนในพื้นที่ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามด้านเศรษฐกิจสังคมและการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับโครงการ และการจัดเวทีจัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 (ค.3) เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ข้อซักถาม จากผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวลจากประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จะเป็นประโยชน์สำหรับ นำมาประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและการยอมรับจากชุมชนที่ยั่งยืน
สำหรับโครงการนี้ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน รวม 7 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้แทนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ศึกษา 10 หมู่บ้านใน ตำบลตลิ่งชัน ตำบลคลองขนาน ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง และ 5 ตำบล ใน อำเภอ เกาะลันตา กลุ่มที่ 2 จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กฟผ. คณะผู้ศึกษาและ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กลุ่มที่ 3 เป็นผู้แทนหน่วยงานจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้แทนในพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบ เช่น โรงเรียน วัด มัสยิด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพสต.) กลุ่มที่ 4 ได้แก่นักการเมืองท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กลุ่มที่ 5 จะเป็นผู้แทนองค์กร และกลุ่มจัดตั้งอื่นๆ เช่น กลุ่มด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มอาชีพ และกลุ่มสุขภาพ กลุ่มที่ 6 จะเป็นผู้แทนสื่อมวลชนในพื้นที่ และกลุ่มที่ 7 ได้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป โดยไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่จะทำการศึกษา
ดังนั้น กฟผ. จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ ประชาชนทั่วไป ผู้สนใจและสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมการรับฟังความคิดห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียของโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ครั้งที่ 1 ( ค.1) ในวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2557 เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป ณ โรงเรียนบ้านคลองรั้ว หมู่ที่ 1 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่