Published on มกราคม 17th, 2014 | by Divali
0ด้วงแรดในปาล์มน้ำมัน
สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่จัดรณรงค์และสาธิตวิธีการป้องกันกำจัดด้วงแรดศัตรูปาล์มน้ำมันโดยชีววิธี ณ หมู่ที่ 3 ตำบลเขาใหญ่ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
นายไชยยุทธ์ ขุนฤทธิ์แก้ว เกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของจังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ปลูก 972,800 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 20 ปี จำนวน 191,400 ไร่ ปาล์มเหล่านี้อีกไม่กี่ปีก็จะต้องถูกทำลายเพื่อปลูกใหม่ทดแทนเนื่องจากผลผลิตเริ่มลดลงและเก็บเกี่ยวยาก โดยที่วิธีการทำลายมี 2 วิธี ที่เกษตรกรนิยมทำกันอยู่คือ การเจาะลำต้นแล้วใส่สารเคมีเข้าไปเพื่อให้ปาล์มน้ำมันยืนต้นตาย และอีกวิธีหนึ่ง คือ การโค่นล้มแล้วสับทำลาย ซึ่งการทำลายต้นปาล์มน้ำมันทั้ง 2 วิธีนี้ จะมีความเสี่ยงต่อการเข้ามาอยู่อาศัยของด้วงแรดที่เป็นศัตรูสำคัญของปาล์มน้ำมัน และก็จะขยายพันธุ์ระบาดลุกลามไปยังปาล์มน้ำมันแปลงอื่น
ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาดของแมลงดังกล่าวทางสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่จึงได้จัดรณรงค์และสาธิตวิธีการป้องกันกำจัดด้วงแรดโดยชีววิธี ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และไม่มีผลตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับในวันนี้ได้มาจัดณรงค์ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลเขาใหญ่ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ซึ่งอำเภออ่าวลึกเป็นอำเภอที่มีเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันกันมากอำเภอของจังหวัดกระบี่
โดยได้รณรงค์และสาธิตในเรื่องของการกำจัดแหล่งอาศัยและแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรดซึ่งก็คือ ซากต้นปาล์มที่เกษตรกรโค่นล้ม การใช้สารล่อหรือฟีโรโมนล่อตัวเต็มวัยของด้วงแรดมาทำลายและการใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซี่ยมเป็นตัวทำลายตัวหนอนของด้วงแรดไม่ให้เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยไปกัดกินต้นปาล์ม
เกษตรจังหวัดกระบี่กล่าวต่อไปว่า การใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซี่ยมในการทำลายตัวหนอนของด้วงแรดนั้น โดยการทำกองปุ๋ยหมักไว้ในแปลงปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อล่อให้ตัวเต็มวัยของด้วงแรดมาวางไข่ ซึ่งกองปุ๋ยหมักควรมีขนาดกว้าง – ยาว ประมาณ 1 – 2 เมตร สูง 1 ศอก จำนวน 4 – 5 กอง ในเนื้อที่ปลูกปาล์ม 10 ไร่ แล้วใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซี่ยม 500 – 1,000 กรัม ต่อกองปุ๋ยหมัก 1 กอง โรยให้ทั่วผิวหน้ากองปุ๋ยหมัก แล้วรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นปิดด้วยทางปาล์มน้ำมัน เชื้อราเมตาไรเซี่มก็จะเจริญเติบโตอยู่ในกองปุ๋ยหมัก โดยที่กองปุ๋ยหมักนี้จะเป็นที่ล่อให้ตัวเต็มวัยของด้วงแรดมาวางไข่ ซึ่งเมื่อด้วงแรดมาวางไข่ในกองปุ๋ยหมักและไข่ฟักเป็นตัวหนอน เชื้อราเขียวเมตาไรเซี่ยมก็จะเจาะเข้าไปทำลายในตัวหนอนของด้วงแรด ทำให้ตัวหนอนด้วงแรดตาย ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตของด้วงแรดไม่ให้เจริญเติบโตไปเป็นตัวเต็มวัยได้ สำหรับเชื้อราเขียวเมตาไรเซี่ยมนั้นเกษตรกรที่ต้องการสามารถติดต่อขอรับได้ที่ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา หรือติดต่อมาทางสำนักงานเกษตรจังหวัดก็ได้