Published on ธันวาคม 17th, 2013 | by Divali
0ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า
ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง ด้วยการแปรสภาพพลังงานสะสมของถ่านลิกไนต์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้น้ำเป็นตัวกลาง
กระบวนการแปรสภาพพลังงานดังกล่าว มีขั้นตอนดังนี้
เปลี่ยนพลังงานสะสมในถ่านลิกไนต์ให้เป็นพลังงานความร้อน โดยการเผาใหม้หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการสันดาป (Combusion or Oxidation)
พลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้ถูกส่งผ่านไปให้กับน้ำทำให้น้ำกลายเป็นไปน้ำ อุณหภูมิและความดันสูง
เปลี่ยนพลังงานความร้อนของไอน้ำให้เป็นพลังงานกล โดยใช้ไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำ
เปลี่ยนพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยให้กังหันไอน้ำไปหมุุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นการสิ้นสุดขั้นตอนการแปรสภาพพลังงาน
การทำงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
การทำงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทั่วไป โดยใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง อุปกรณ์ของโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย
เครื่องอุ่นอากาศ (Air Heater) เป็นอุปกรณ์เพิ่มอุณหภูมิแก่อากาศก่อนที่จะเข้าไปช่วยในการเผาไหม้เชื้อเพลิง เครื่องอุ่นอากาศนี้ทำงานโดยรับความร้อนจากก๊าซร้อนที่ออกจากหม้อน้ำ และถ่ายความร้อนดังกล่าวให้กับอากาศ
แผงท่อรับความร้อน (Economizer) คือแผงท่อน้ำซึ่งทำให้น้ำที่เข้าไปในหม้อน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีกขั้นหนึ่ง แผงนี้จะติดตั้งอยู่บริเวณช่วงสุดท้ายก่อนที่ก๊าซร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้จะออกจากตัวหม้อน้ำ เพื่อรับความร้อนจากก๊าซร้อนและถ่ายเทให้แก่น้ำที่เข้าหม้อน้ำ
เครื่องแยกไอน้ำ ( Boiler Drum) ลักษณะเป็นเหล็กหนารูปแคปซูลที่สามารถทนความดันและอุณหภูมิสูง ภายในเครื่องแยกไอน้ำมีอุปกรณ์ Cyclone Separator และ Steam Scrubber ทำหน้าที่แยกไอน้ำออกจากน้ำ โดยอาศัยหลักของแรงหนีศูนย์กลางและการเปลี่ยนทิศทางการไหล
หม้อน้ำ (Boiler) คือตัวเตาซึ่งมีท่อเหล็กทนต่อความดันและอุณหภูมิสูงประกอบกันเป็นผนัง 4 ด้านของเตา ภายในท่อเหล่านจะมีน้ำไหลวนอยู่ ส่วนบนของตัวเตามีแผงท่อไอน้ำแขวนลอย เป็นท่อรับไอน้ำที่ออกจากเครื่องแยกไอน้ำ(Boiler Steam Drum) มารับความร้อนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงอีกครั้งเพื่อเพิ่มอุณหภูมิแก่ไอน้ำให้สูงขึ้นและส่งไอน้ำอุณหภูมิสูงนี้ออกจากหม้อน้ำไปยังท่อนำไอน้ำเพื่อไปหมุนเครื่องกังหันไอน้ำ
การทำงานของระบบหม้อน้ำ
ขั้นแรก น้ำบริสุทธิ์ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralizer Water) จะถูกสูบเข้าไปสู่หม้อน้ำในระดับที่เหมาะสม จากนั้นจะจุดเชื้อเพลิงภายในเตา ความร้อนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงส่งผ่านไปยังน้ำในท่อผนังเตา ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นและเกิดการไหลเวียน น้ำที่มีอุณหภูมิสูงจนกลายเป็นไอน้ำและมีความดันสูงขึ้น จะไหลเข้าสู่เครื่องแยกไอน้ำเพื่อแยกไอน้ำออก ไอน้ำจะไหลเข้าสู่แผงท่อไอน้ำเพื่อรับความร้อนจากก๊าซร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงอีกครั้งหนึ่ง จนมีอุณหภูมิสูงขึ้นพอเหมาะที่จะไหลออกจากหม้อน้ำ ผ่านไปยังท่อนำไอน้ำเพื่อไปหมุนเครื่องกังหันไอน้ำต่อไป
การทำงานของเครื่องกังหันไอน้ำ (Steam Turbine)
เครื่องกังหันไอน้ำ ใช้เปลี่ยนพลังงานความร้อนของไอน้ำให้เป็นพลังงานกล มีส่วนประกอบสำคัญคือ ระบบควบคุม (Governor System) เพลาหมุนและใบพัด (Roter & Moving Blade) ตัวถังและใบพัด ( Casing & Stationary Blade) และเครื่องควบแน่น(Condenser)
ไอน้ำอุณหภูมิและความดันสูงจากท่อนำไอน้ำจะไหลผ่านวาล์วของระบบควบคุม (Governing Control System)ซึ่งจะควบคุมการไหลของไอน้ำให้อยู่ในภาวะที่ต้องการเข้าสู่เครื่องกังหันไอน้ำ ซึ่งประกอบด้วยตัวถังมีเพลาหมุนและใบพัดติดตั้งอยู่ภายใน เมื่อไอน้ำไหลเข้าไปในตัวกังหัน ความดันของไอน้ำจะลดลงและเกิดการขยายตัวทำให้ปริมาตรของไอน้ำเพิ่มขึ้น มีผลให้ความเร็วในการไหลของไอน้ำสูงขึ้น เมื่อไอน้ำความเร็วสูงนี้ไปปะทะกับใบพัด (Moving Blade) จำนวนหลายชุดที่ติดอยู่กับเพลา ก็จะผลักดันให้เพลาของกังหันหมุนก่อกำเนิดพลังงานกล
เมื่อไอน้ำผ่านชุดของใบพัดจนครบ ความดันและอุณหภูมิจะลดลง ไอน้ำจะไหลออกจากกังหัน เข้าสู่เครื่องควบแน่นซึ่งมีท่อโลหะสอดขวางอยู่เป็นจำนวนมากภาย ในท่อมีน้ำเพื่อใช้ระบายความร้อนไหลอยู่ เมื่อไอน้ำไหลเข้าสู่เครื่องควบแน่นไอน้ำจะถ่ายเทความร้อนให้น้ำไนท่อ ส่วนตัวไอน้ำเองจะควบแน่นและเปลี่ยนสถานะเป็นน้ำบริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง และถูกสูบวนกลับเข้าหม้อน้ำอีก
การทำงานของระบบกังหันที่กล่าวมานี้เป็นเพียงคร่าว ๆ เท่านั้น ในการทำงานจริงจะมีระบบอื่น ๆ เสริม เช่น เครื่องอุ่นน้ำ ปั๊มน้ำมันความดันสูง เครื่องดูดอากาศ เป็นต้น เพือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินระบบเครื่องกังหันไอน้ำ
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าติดตั้งอยู่ในแนวระดบเดียวกับเครื่องกังหันไอน้ำ โดยเพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต่อโดยตรงเข้ากับเพลาของเครื่องกังหันไอน้ำ เมื่อเพลาเครื่องกังหันไอน้ำหมุนก็จะทำให้เพลาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนไปด้วย ที่เพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีตัวนำพันอยู่กับแกนเหล็ก ไฟฟ้ากระแสดตรงจะถูกจ่ายห้กับตัวนำนี้ ดังนั้นจะเกิดสนามแม่เมหล็กขึ้นที่เพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เมื่อเพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุุน สนามแม่เหล็กก็หมุนไปด้วย สนามแม่เหล็กนี้จะเหใุนไปตัดกับตัวนำอีกชุดหนึ่งซึ่งพันอยู่กับแกนเหล็กที่ติดอยู่รอบตัวถังของเครื่องกำเนิกไฟฟ้า ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำและเกิดกระแสไฟ้าไหลในตัวนำที่ติดอยู่กับตัวเครื่องกำเนิดไฟฟ กระสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้จะส่งเข้าไปยังหม้อแปลงไฟฟ้าแรงดันสูงเพื่อจ่ายใ้ห้กับสายส่งแรงสูงต่อไป
เครื่องกำเนิดไฟฟ้ายังประกอบด้วยระบบอุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ระบบระบายความร้อน ระบบควบคุม ฯลฯ
ขั้นตอนการใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง
ถ่านลิกไนต์ที่ขุดจากเหมืองแม่เมาะ ถูกส่งเข้ามาบดในเครื่องย่อยถ่านชุดแรกและผ่านออกมาในขนาดไม่โตกว่า 30 ลบ.ซม. จากนั้นจะใช้สายพานลำเลียงมากองไว้ยังบานกองย่อย ถ่านจากลานกองจะถูกส่งขึ้นมายังโรงย่อยถ่าน โดยมีระบบแม่เหล็กไฟฟ้าและระบบตรวจสอบโลหะ เพื่อแยกโลหะไม่พึงประสงค์ออก ก่อนนจะผ่านไปยังเครื่องย่อยถ่านชุดที่สอง ซึ่งจะย่อยถ่านให้มีขนาดไม่โตกว่าา 3 ลบ.ซม. และส่งไปเก็บไว้ในยุ้งถ่าน (Coal Bunker) ในตัวโรงไฟฟ้าเพื่อเตรียมใช้งานต่อไป
ถ่านลิกไนต์ติดไฟค่อนข้างยาก ในช่วงแรกของการจุดเตาจึงต้องใช้ Light Oil จุดนำก่อน โดยใช้หัวฉีดน้ำมัน ฉีด Light Oil ให้กระจายเป็นฝอยเข้าไปในตัวเตาใช้ระบบจุดระเบิดโดยการ Sprak ของไฟฟ้าแรงสูง ทำให้ Light Oil ลุกไหม้ภายในเตา เมื่อการเผาไหม้ Light Oil อยู่ในสภาวะคงที่ (Stable) และอุณภูมิภายในเตาสูงพอ จึงจะเริ่มเผาถ่านลิกไนต์
ถ่านลิกไนต์จากยุ้งเก็บถ่านถูกป้อนเข้าโม่บดดดยเครื่องป้อนถ่าน (Coal Feeder) ซึ่งเป็นตัวควบคุมปริมาณถ่านที่จะเผา ในโม่บดถ่านจะมีลมร้อนจากเครื่องอุ่นอากาศเป่าเข้าไปในโม่ ถ่านจะถูกบดโดยมีลมร้อนเป็นตัวกวนให้การบดมีประสิทธิภาพดีและไล่ความชื้นออกจากถ่าน
ถ่านที่บดแล้วจะมีขนาดประมาณ 75/1000 มิลลิเมตร และอุณภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส ถูกลมร้อนพาขึ้นไปตามท่อส่งถ่านไปยังหัวฉีดถ่าน (Coal Burner) หัวฉีดถ่านจะทำหน้าที่ควบคุมให้ถ่านกระจายเข้าไปในเตาอย่างมีระเบียบ เมื่อผงถ่านปะทะกับ Light Oil ที่กำลังลุกไหม้และมีอุณภูมิสูง ผงถ่านจะติดไฟและเกิดการเผาไหม้ขึ้น ในช่วงนี้ก็จะหยุดใช้ Light Oil และใช้ถ่านเพียงอย่างเดียวได้
การเผาถ่านจะทำให้เกิดขึ้เถ้า ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ขี้เถ้าหนัก (Wet Ash) จะตกลงสู่ก้นเตาและถูกลำเลียงออกจากเตาโดยระบบสายพานเหล็ก (Scrapper Conveyor)
ขี้เถ้าเบา (Fly Ash or Dry Ash) จะปนไปกับก๊าซร้อน ปริมาณขี้เถ้าเบาที่เกิดขึ้นมีปริมาณร้อยละ 80-95 ของขี้เถ้าที่เกิดขึ้นทั้งหมด จึงต้องมีการติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator) เพื่อแยกฝุ่นออกจากก๊าซร้อน ก่อนจะปล่อยก๊าซออกทางปล่องควัน
การทำงานของเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8-13
เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue gas desulfurization) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า FGD นั้น เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แยกก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกจากก๊าซไอเสียที่ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกัมมะถันปนอยู่ในเชื้อเพลิง FGD ที่ใช้สำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8-13 เป็น FGD ชนิดเปียก (Wet type FGD) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงถึง 92-95 % ใน FGD ระบบนี้จะใช้หินปูน (Calsium Carbonate, CaCO3) เป็นตัวดูดซับ (Absorbant) และจะได้ยิบซั่ม (Gypsum, CaSO4 2H2O) เป็นผลผลิต (By product)
เราสามารถอธิบายการทำงานของ FGD โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8-13 ได้พอสังเขปโดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
ระบบเตรียมน้ำหินปูน (Slurry Preparation system)
หินปูนจะถูกส่งโดยรถบรรทุกมายังบริเวณ FGD หินปูนดังกล่าวจะถูกชั่งน้ำหนัก และลำเลียงเข้าไปเก็บไว้ในยุ้งเก็บหินปูน (Lime Stone Silo) หินปูนจากยุ้งเก็บจะถูกป้อนเข้าสู่โม่บดหินปูน ผ่านทางสายพาน (Lime Stone Feeder) หินปูนจะถูกบดผสมกับน้ำด้วยอัตราส่วนที่เหมาะสมภายในโม่บดหินปูนจนเป็นของเหลว และไหลลงสู่ถังพัก (Mill recycle tank) น้ำหินปูนเหลวจะถูกปั๊มจากถังพักไปยังชุดแยกขนาด (Hydro cyclone) โดยหินปูนเหลวที่ถูกบดได้ขนาดแล้วจะผ่านชุดแยกขนาดไปเก็บไว้ในถังป้อนน้ำหินปูน (Reagent feed tank) ส่วนหินปูนที่ยังไม่ได้ขนาดจะไหลกลับไปยังโม่บดเพื่อบดอีกครั้งจนได้ขนาด ที่ถังป้อนน้ำหินปูนจะมีปั๊ม Reagent feed pump ติดตั้งเพื่อปั๊มน้ำหินปูนไปใช้ในระบบอื่น ๆ ต่อไป และระบบดังกล่าวยังถูกออกแบบให้มีการไหลวน (Recirculate) ของน้ำหินปูนด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันน้ำหินปูนอุดตันภายในท่อ นอกจากนี้ยังมีชุดใบพายกวน (Agitator) ติดตั้งอยู่ที่ถังป้อนน้ำหินปูน เพื่อกวนไม่ให้น้ำหินปูนตกตะกอนด้วย
ระบบจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Absorber system)
อุปกรณ์ที่ใช้จับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Absorber) จะมีลักษณะคล้ายหอคอย (Tower) โดยภายในจะฉาบ (Liner) ด้วยสารทนกรด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกัดกร่อน ที่ส่วนบนของ Absorber จะมีชุดอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (Gas to gas heater) ติดตั้งอยู่ทั้งทางด้านเข้าและออกจาก Absorber อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนนี้มีลักษณะเป็นท่อคล้ายหม้อน้ำรถยนต์ ดังนั้นเมื่อก๊าซไอเสียที่มีอุณหภูมิสูงผ่านเข้ามา ก็จะถ่ายเทความร้อนให้น้ำภายในท่อร้อนขึ้น และก๊าซไอเสียที่ออกจากอุปกรณ์ถ่ายเทความร้อนจะมีอุณหภูมิต่ำลง ส่วนน้ำในท่อที่ร้อนขึ้นก็จะไหลเวียนไปยังชุดถ่ายเทความร้อนชุดที่ติดตั้งอยู่ทางด้านออกของ Absorber เพื่อถ่ายเทความร้อนให้ก๊าซไอเสียที่จะออกจาก Absorber ให้ร้อนขึ้นต่อไป
ที่ส่วนล่างของ Absorber จะมีลักษณะเป็นอ่าง (Sump) และมีน้ำผสมน้ำหินปูนบรรจุอยู่ และมีอุปกรณ์ที่สำคัญติดตั้งอยู่ คือ
recirculating pump เป็นปั๊มจำนวน 4 ตัว (ปกติเดิน 3 ตัว Stand-by 1 ตัว) มีหน้าที่ปั๊มน้ำผสมน้ำหินปูน จากส่วนล่างขึ้นไปยังชุดหัวฉีดที่ติดตั้งอยู่บริเวณส่วนกลางของ Absorber
Absorber bleed pump เป็นปั๊มจำนวน 2 ตัว (ปกติเดิน 1 ตัว Stand-by 1 ตัว) มีหน้าที่ปั๊มน้ำผสมยิบซั่มจากอ่าง Absorber ไปยังระบบแยกน้ำออกจากยิบซั่ม
Oxidation air blower เป็นอุปกรณ์อัดอากาศจำนวน 3 ตัว (ปกติเดิน 2 ตัว Stand-by 1 ตัว) ทำหน้าที่อัดอากาศเข้าไปในอ่างของ Absorber เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาเติมออกซิเจน (Oxidation) ในขบวนการผลิตยิบซั่ม
Absorber sump agitator เป็นอุปกรณ์ลักษณะคล้ายใบพาย เพื่อใช้กวนเพื่อให้สารละลายเข้ากันในอ่าง Absorber
ที่ส่วนกลางของ Absorber จะมีชุดหัวฉีด (nozzle) ที่รับน้ำผสมน้ำหินปูนจากชุด Recirculating pump ติดตั้งอยู่ เพื่อทำให้เกิดการพ่นกระจาย (Spray) ของน้ำผสมน้ำหินปูนใน Absorber ถัดจากชุดหัวฉีดลงมาจะมีชุดตะแกรง (grid pack) เพื่อให้ละอองน้ำผสมน้ำหินปูนที่ฉีดจากหัวฉีดผสมกับก๊าซไอเสียได้ดียิ่งขึ้น และระหว่างชุดหัวฉีดทางด้านออกของ Absorber กับชุดแลกเปลี่ยนความร้อน จะมีตะแกรงดักละอองน้ำ (Misteliminator) ติดตั้งอยู่ เพื่อดักไม่ให้ละอองน้ำปะปนออกไปกับก๊าซไอเสียที่ถูกแยกก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกไปแล้ว
การทำงานของระบบจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะเริ่มต้นที่ เมื่อก๊าซไอเสียจากหม้อน้ำ (Boiler) ผ่านเครื่องจับฝุ่น (Electrostatic Precipitator) แล้ว และมีอุณหภูมิประมาณ 163 ํ C ไหลผ่านชุดแลกเปลี่ยนความร้อนเข้ามาใน absorber อุณหภูมิของก๊าซไอเสียจะลดลงเหลือ 145 ํ C ก๊าซไอเสียดังกล่าวก็จะปะทะและคลุกเคล้ากับน้ำผสมน้ำหินปูนที่ถูกฉีดออกจากหัวฉีดใน absorber น้ำส่วนหนึ่งจะระเหยกลายเป็นไอปนไปกับก๊าซไอเสีย และอุณหภูมิของก๊าซไอเสียใน absorber ก็จะเย็นลงถึงอุณหภูมิอิ่มตัว (Saturated Temperature) ที่ประมาณ 62 ํC แต่เนื่องจากปริมาณน้ำที่พ่นกระจายออกจากหัวฉีดได้ถูกออกแบบไว้ให้มีปริมาณสูงกว่าอัตราการระเหยมาก จึงทำให้มีน้ำผสมน้ำหินปูนบางส่วนตกกลับลงมายังอ่างด้านล่างของ absorber และน้ำผสมน้ำหินปูนเหล่านี้เอง จะละลายเอาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกจากก๊าซไอเสีย โดยมีการเติมอากาศเข้ามาใน absorber จาก Oxidation blower ดังนั้นจึงเกิดปฏิกิริยาเติมออกซิเจน (Oxidation) ขึ้นในขบวนการจนได้เป็นยิบซั่ม (CaSO4 2H2O) ออกมา ดังสมการ
CaCO3 + SO2 + 1/2O2 + 2H2 O —-> CaSO4 .2H2 O + CO2
จากปฏิกิริยาดังกล่าว ก๊าซไอเสียที่ไหลออกจาก absorber จะมีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปนอยู่น้อยมาก ก่อนที่ก๊าซไอเสียดังกล่าวจะออกจาก absorber ก๊าซไอเสียดังกล่าวจะผ่านตะแกรงเพื่อดักเอาละอองน้ำออก และผ่านไปยังอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนเพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นประมาณ 80 ํ C แล้วจึงไหลออกจาก absorber ระหว่าง absorber กับปล่องควันจะมีพัดลมช่วย (Booster fan) เป็นตัวดูดเอาก๊าซไอเสียไปยังปล่องควัน และปล่อยออกสู่บรรยากาศภายนอกต่อไป ส่วนยิบซั่มที่เกิดขึ้นเป็นผลึกปนอยู่กับสารละลายในอ่าง absorber และจะถูก Absorber bleed pump ปั๊มส่งไปยังระบบแยกน้ำออกจากยิบซั่มต่อไป
จะเห็นว่าระบบจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกจากก๊าซไอเสียนั้น สามารถจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ปริมาณที่สูงมาก คือ
ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก่อนเข้า absorber ประมาณ 17 ตัน/ชม.
ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ภายหลังผ่าน absorber ประมาณ 0.8-0.9 ตัน/ชม.
ระบบแยกน้ำออกจากยิบซั่ม (Gypsum dewatering system)
ยิบซั่มเหลวผสมน้ำจาก Absorber bleed pump จะถูกส่งไปยังเครื่องแยกน้ำที่มีลักษณะเป็นสายพานที่มีรูพรุน และมีส่วนใต้ของสายพานจะติดอยู่กับระบบปั๊มสูญญากาศ (Vacuum pump) เพื่อดูดน้ำให้แยกออกจากยิบซั่ม น้ำดังกล่าวจะไปรวมเก็บไว้ในถัง Reclaimed water tank เพื่อเตรียมนำกลับไปใช้ในระบบอื่น ๆ ส่วนผลึกยิบซั่มจะไปกับสายพาน และไหลลงสู่สายพานส่งเส้นต่อไปเพื่อนำไปทิ้งหรือใช้งานอื่น ๆ ต่อไป
จะเห็นว่าขบวนการในการแยกก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกจากก๊าซไอเสีย จนเกิดเป็นยิบซั่ม มีสิ่งที่ต้องใช้ในขบวนการ 3 อย่าง คือ
หน่วยที่ 12-13 หน่วยที่ 8-11 หน่วย
หินปูน ใช้ประมาณ (คิดที่ 100% CaCO3 ในหินปูน) 12.2 17 ตัน/ช.ม.
(คิดที่ 80% CaCO3 ในหินปูน) 15 21 ตัน/ช.ม.
น้ำ ใช้ประมาณ (ซึ่งน้ำที่ใช้จะเป็นน้ำที่ทิ้งจากระบ อื่น ๆ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า) 70 72 ตัน/ช.ม.
พลังงาน ใช้ประมาณ (ใช้ในการขับปั๊ม พัดลม และอุปกรณ์อื่น ๆ) 4,800 6,000 ตัน/ช.ม.
จากที่กล่าวมาเป็นเพียงการทำงานพอสังเขปของ FGD เท่านั้น เพราะในระบบทำงานจริงมีรายละเอียดในการทำงานมากมาย เช่น จะต้องควบคุมความเป็นกรด ด่าง ระดับของของเหลว อุณหภูมิ ฯลฯ ซึ่งใช้ระบบควบคุมด้วย Computer ที่ทันสมัย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สูงสุด ดังนั้น ราคาจึงค่อนข้างสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการลดมลภาวะแล้วก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง