Published on พฤศจิกายน 25th, 2013 | by Divali
0องค์กรญี่ปุ่นชวนร่วมค้าน ‘ญี่ปุ่น’ ส่งออกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไป ‘ตุรกี’
Sun, 2013-11-24 18:53
ปฏิเสธการส่งออกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ องค์กรภาคประชาชนชี้ด้วยสถานการณ์อันเลวร้ายที่ยังมองไม่เห็นจุดจบในประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ควรผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในต่างประเทศ
24 พ.ย.56 โครงการศูนย์ญี่ปุ่นเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืน (JACSES) โครงการนิวเคลียร์และพลังงาน เฟรนด์ออฟดิเอิร์ธ ญี่ปุ่น (FoE Japan) และแม่โขงวอชท์ (Mekong Watch) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเชิญชวน ‘คัดค้านรัฐสภาญี่ปุ่นลงนามในสัญญาส่งออกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากญี่ปุ่นไปยังตุรกี’ โดยสามารถลงชื่อได้ทั้งในนามบุคคล (Individual) และองค์กร (Organization) ในแบบฟอร์มจากลิ๊งนี้ https://pro.form-mailer.jp/fms/eb13819e50609
จากกรณีที่ สภาไดเอทแห่งชาติญี่ปุ่น (รัฐสภา) กำลังดำเนินกระบวนการให้สัตยาบันข้อตกลงระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศตุรกี เพื่อความร่วมมือในการที่ญี่ปุ่นจะสร้างเตาปฏิกรณ์และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศตุรกี
ในขณะที่วิกฤตของโรงไฟฟ้านิวเคลีย์ฟุกุชิมะไดอิชิยังไม่จบ เนื่องจากยังคงมีการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจำนวนมหาศาลสู่สิ่งแวดล้อมจากเตาปฏิกรณ์ที่เสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554 จนกระทั่งขณะนี้ และเหยื่อของอุบัติภัยนิวเคลียร์ยังคงทนทุกข์
“สถานการณ์อันเลวร้ายที่ยังมองไม่เห็นจุดจบในประเทศญี่ปุ่นขณะนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ควรอย่างยิ่งที่จะผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในต่างประเทศ เราจึงจะส่งจดหมายคัดค้านการลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์นี้ไปยังรัฐสภาญี่ปุ่น” คำเชิญชวนระบุ
กำหนดเวลาครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 8.00น. (เวลาประเทศไทย)
กำหนดเวลาครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน เวลา 8.00น. (เวลาประเทศไทย)
จดหมายที่จะยื่นต่อรัฐสภาญี่ปุ่น
คัดค้านสัญญานิวเคลียร์ระหว่างญี่ปุ่น-ตุรกี: ปฏิเสธการส่งออกเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
Dear Members of the National Diet of Japan:
เรียนสมาชิกสภาไดเอทแห่งชาติญี่ปุ่น:
เรามีความกังวลอย่างมากต่อการให้สัตยาบันข้อตกลงระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศตุรกี ในขณะที่วิกฤตนิวเคลียร์นิวเคลีย์ฟุกุชิมะไดอิชิยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งเสริมการส่งออกวัตถุและเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากญี่ปุ่นไปยังประเทศตุรกี และเราคัดค้านข้อตกลงนี้อย่างแข็งขัน
ประเทศตุรกีเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก กระนั้นก็ตาม อาคารและโครงสร้างพื้นฐานของตุรกียังขาดมาตรการป้องกันแผ่นดินไหว หากมีเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นจึงเป็นไปได้อย่างมากที่โครงสร้างพื้นฐานรายรอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะได้รับความเสียหายร้ายแรง และจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการเพื่อตอบสนองเหตุอุบัติภัยนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยความที่นายกเทศมนตรีเมือง Sinop ต่อต้านการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเมืองของเขา จึงมีความกังวลว่าจะสามารถออกแบบแผนการอพยพประชาชน [จากอุบัติภัยนิวเคลียร์] อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะนี้บริษัทพลังงานปรมาณูญี่ปุ่น (Japan Atomic Power Company: JAPC) กำลังทำการสำรวจทางธรณีวิทยาในเมือง Sinop ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 1,170 ล้านเยน และบริษัท JAPC เดียวกันนี้เองที่ยืนยันว่ารอยเลื่อนของเปลือกโลกใต้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สุรุกะ (Tsuruga Nuclear Power Plant) เป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง (inactive) แล้วแม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น (Nuclear Regulation Authority: NRA) จะตัดสินว่ารอยเลื่อนดังกล่าวยังมีพลัง (active) อยู่ ด้วยประวัติการสำรวจทางธรณีวิทยาที่น่ากังขาของบริษัท JAPC นี้ ประกอบกับการที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ให้สัญญาในการเปิดเผยผลจากการสำรวจทางธรณีวิยาดังกล่าว เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมือง Sinop จะดำเนินไปพร้อมกับการปิดบังข้อมูลต่อสาธารณะทั้งในญี่ปุ่นและตุรกี
ยิ่งไปกว่านั้น แม้ญี่ปุ่นจะมีหน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Regulation Authority: NRA) ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังจากภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะและเป็นกลางปราศจากรัฐมนตรีที่เข้าข้างอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ประเทศตุรกีกลับมีเพียงหน่วยงานด้านพลังงานปรมาณู ( Atomic Energy Authority) ซึ่งมีหน้าที่ทั้งส่งเสริมและกำกับดูแลพลังงานนิวเคลียร์ และตุรกียังไม่มีแผนการกำจัดของเสียกัมมันตรังสี
แม้เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยแผนรับมือต่ออุบัติภัยและการก่อการร้าย แผนการอพยพ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะเกิดจากสัญญาระหว่างประเทศในครั้งนี้ (ทั้งในประเทศตุรกี และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต) แต่รัฐบาลญี่ปุ่นกลับปัดความรับผิดชอบและกล่าวว่าเรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลตุรกี ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นใช้เงินของประชาชนในการสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าที่ประเทศตุรกี รัฐบาลญี่ปุ่นมีหน้าที่ที่จะต้องอธิบาย อย่างน้อยที่สุดต่อประชาชนญี่ปุ่น ว่ามีแผนจะจัดการกับประเด็นเหล่านี้อย่างไร
ในญี่ปุ่น เหตุที่เกิดกับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิชิทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องทิ้งบ้านเรือนและทนทุกข์กับมลพิษนิวเคลียร์ และจนถึงขณะนี้ที่น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสียังคงรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม วิกฤตนิวเคลียร์ครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุด เรายังไม่ทราบว่าค่าใช้จ่ายในการกำจัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีมหาศาลเหล่านั้น การปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เสียหาย การทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อน และค่าเสียหายต่อผู้ได้รับผลกระทบจะคิดเป็นมูลค่าเท่าใด
ด้วยสถานการณ์อันเลวร้ายที่ยังมองไม่เห็นจุดจบในประเทศญี่ปุ่นขณะนี้ เราขอต่อต้านการกระทำของรัฐบาลญี่ปุ่นในการสนับสนุนการส่งออกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปยังประเทศตุรกีเพียงเพื่อผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ และเราขอเรียกร้องให้สภาไดเอทแห่งชาติญี่ปุ่นหยุดการลงนามให้สัตยาบันต่อสัญญานิวเคลียร์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและตุรกี
ด้วยความเคารพ
ศูนย์ญี่ปุ่นเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืน
(Japan Center for a Sustainable Environment and Society: JACSES)
เฟรนด์ออฟดิเอิร์ธ ญี่ปุ่น
(FoE Japan)
แม่โขงวอชท์
(Mekong Watch)
ภาคผนวก: ปัญหาของข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ระหว่างญี่ปุ่น-ตุรกี และแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Sinop
การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ยังไม่เพียงพอ
-ประเทศตุรกีตั้งอยู่บนภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (เกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับ 6.0 หรือใหญ่กว่าถึง 72 ครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ.1900)[1] เหตุการณ์แผ่นดินไหวอิซมิท (Izmit) เมื่อปี 1999 (ระดับ 7.8) ทำให้คนตายถึง 17,000 คน และบาดเจ็บ 43,000 คน[2] แผ่นดินไหวครั้งนั้นยังสร้างความเสียหายให้กับสถานีจ่ายไฟฟ้าที่สำคัญหลายแห่ง ทำให้เกิดไฟดับอยู่หลายวัน[3]
-อาคารและสาธารณูปโภคในตุรกียังมีการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวไม่เพียงพอ เป็นต้นว่า ในกรุงอิสตันบุล อาคารเพียง 1% ซึ่งรวมถึงโรงเรียน 250 แห่งจากทั้งหมด 3000 โรง และโรงพยาบาล 10 แห่งจากทั้งหมด 635 แห่ง มีการดัดแปลงเพื่อต่อต้านแผ่นดินไหว (ข้อมูลล่าสุดปี 2009)[4]
-แม้ว่าเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูที่ญี่ปุ่นจะส่งออกไปให้ตุรกีจะมีความทนทานสูงต่อแผ่นดินไหว แต่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ สิ่งปลูกสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ รอบตัวปฏิกรณ์ปรมาณูจะถูกทำลาย ทำให้ยากแก่การช่วยเหลือเหตุฉุกเฉิน
-เนื่องจากนายกเทศมนตรีเมือง Sinop ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงทำให้ยากแก่การร่างแผนการอพยพที่มีประสิทธิภาพได้
ปัญหาความถูกต้องของข้อมูลของการสำรวจทางธรณีวิทยา
-บริษัทพลังงานปรมาณูญี่ปุ่น (JAPC) กำลังทำการสำรวจทางธรณีวิทยาในเมือง Sinop ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 1,170 ล้านเยน[5] แต่ JAPC เป็นบริษัทเดียวกันที่ยังยืนยันว่ารอยเลื่อนของเปลือกโลกใต้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สุรุกะ (Tsuruga Nuclear Power Plant) ไม่มีการเคลื่อนไหวแล้ว (inactive) ในขณะที่องค์การกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น (Nuclear Regulation Authority: NRA) ได้เคยยืนยันว่ารอยเลื่อนดังกล่าวยังเคลื่อนไหวได้อยู่ (active) ด้วยประวัติเช่นนี้ ทำให้การสำรวจทางธรณีวิทยาของบริษัทเป็นที่น่ากังขา
การประเมินความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอ
-ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Sinop คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 22000-25000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ที่สร้างโดยบริษัทรัสเซียแห่งหนึ่งเพิ่งถูกประเมินเพิ่มขึ้นจาก 20000 ล้านเหรียญ เป็น 25000 ล้านเหรียญ และมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอีก ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานบางคนในตุรกีประเมินว่าพลังงานนิวเคลียร์จะมีราคาแพงกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ ในระยะยาว[6]
การขาดองค์การกำกับดูแลที่เป็นอิสระ
-ในขณะที่ญี่ปุ่นก่อตั้งองค์การกำกับดูแลปรมาณูที่เป็นอิสระจากกระทรวงที่สนับสนุนนิวเคลียร์ หลังจากที่อุบัติเหตุนิวเคลียร์ขึ้น ตุรกีมีเพียงการพลังงานปรมาณู ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งผู้สนับสนุนและกำกับดูแลพลังงานนิวเคลียร์[7]
การขาดแผนรองรับการปลดระวางและการกำจัด
-ตุรกีไม่มีแผนรองรับการปลดระวางเตาปฏิกรณ์ปรมาณูและกำจัดกากกัมมันตรังสี[8] จากรายงานในนิตยสารอาซาฮีรายสัปดาห์ เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงเป็นการภายในที่จะไม่ถกเถียงประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดการกากกัมมันตรังสีในระยะยาวกับรัฐบาลตุรกี[9]
การต่อต้านคัดค้านโดยนายกเทศมนตรีและราษฎรเมือง Sinop
-นายกเทศมนตรีเมือง Sinop ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.2009 จากการประกาศแนวนโยบายต่อต้านนิวเคลียร์ โดยไม่ยอมรับการก่อสร้างโครงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเมือง และตั้งแต่นั้น ก็ได้แสดงการต่อต้านอย่างต่อเนื่อง[10] ชาวเมืองเองก็ได้จัดการชุมนุนประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายครั้งหลายหน[11]
การขาดข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวัง
-รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังอุบัติเหตุรุนแรงและการก่อการร้าย แผนการอพยพราษฎร และการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า Sinop[12]
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า …
อุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ
-ในขณะที่เตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ถูกทำลายยังคงปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีออกมาเรื่อยๆ เราคงไม่สามารถรู้ได้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้จะสิ้นสุดกระบวนการเมื่อไร แล้วเรายังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุด้วยซ้ำ ระหว่างนี้ ผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียบ้านเรือนและยังต้องทนทุกข์ทรมานจากมลภาวะนิวเคลียร์ต่อไป ในขณะที่สถานการณ์อันเลวร้ายนี้ยังดำรงอยู่ การส่งออกเตาปฏิกรณ์ปรมาณูย่อมเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม และละเลยความปรารถนาของผู้เป็นเหยื่อที่ต้องการจะเห็นโลกที่ปลอดจากพลังงานนิวเคลียร์
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://hinan-kenri.cocolog-nifty.com/blog/2013/11/please-oppose-t.html / ประชาไท