Published on ตุลาคม 27th, 2013 | by Divali
0รับมอบโครงการจากประเทศจีนระบบผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับครัวเรือน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เดินหน้าโครงการรับมอบระบบผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับครัวเรือนจากประเทศจีน ช่วยเกษตรกรผลิตพลังงานจากมูลสัตว์ คาดประหยัดเงินได้ราว 1.05 ล้านบาทต่อปี
นายอำนวย ทองสถิตย์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า “รูปแบบระบบบ่อก๊าซชีวภาพที่ประเทศจีนได้มอบให้แก่ไทยนั้น เป็นระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบ Fixed Dome สำเร็จรูป ซึ่งมีปริมาณสุทธิ 6 ลูกบาศก์เมตร ผลิตด้วยไฟเบอร์กลาสและพลาสติก เป็นแบบที่ผลิตในประเทศจีน มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี ระบบดังกล่าวสามารถใช้กับครัวเรือนที่มีสมาชิกประมาณ 4 – 5 คน มีหมู 2 – 4 ตัว มีปริมาณมูลหมู 4 – 8 กิโลกรัมต่อวัน ใช้ได้กับการหุงต้มจำนวน 3 มื้อต่อวัน ใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน”
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มั่นใจว่าในภาพรวมจะสามารถช่วยลดการนำเข้าและพึ่งพาก๊าซหุงต้มได้สูงถึง 52,560 กิโลกรัมต่อปี สามารถประหยัดเงินเป็นมูลค่าประมาณ 1,051,200 บาทต่อปี ลดการ ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงประเภทถ่านได้สูงถึงปีละ 157,600 กิโลกรัม รวมทั้งแนวทางการนำของเสียมาผลิตพลังงานในระบบบ่อก๊าซชีวภาพ ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดสุขอนามัยในชุมชนที่ดีขึ้น เกษตรกรรู้จักและเข้าใจในการพึ่งพาตนเอง โดยนำของเสียมาผลิตเป็นพลังงาน และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
ในส่วนของการกำหนดพื้นที่ติดตั้งระบบทั้ง 300 ระบบ เบื้องต้นได้คัดเลือกครัวเรือนที่มีศักยภาพและเหมาะสมในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีเกษตรกรที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 300 ครัวเรือน
คุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของก๊าซชีวภาพและสมัครใจที่จะใช้ รวมทั้งต้องมีพื้นที่เปล่าสำหรับการติดตั้งอย่างน้อย 5 x 10 เมตร, พื้นที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่า 1 ไร่, มีแหล่งน้ำเข้าถึงตลอดปี, มีโรงเรือนสำหรับสัตว์และสุขาในครัวเรือนตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อสะดวกในการรวบรวมของเสียแต่ละแหล่งมาลงระบบผลิตก๊าซชีวภาพ
ที่มา : ไทยนิวส์ ออนไลน์