Published on ตุลาคม 2nd, 2013 | by Divali
0กฟผ. ลงพื้นที่อยุธยา-อ่างทอง ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
กฟผ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง หลังจากลงไปช่วยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางไปแล้วกว่า 1,000 ครัวเรือน และจัดเตรียมถุงยังชีพ อีก 20,000 ชุด มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ไว้ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำสถานการณ์น้ำในเขื่อน กฟผ. ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรองรับน้ำได้
วันนี้ (2 ตุลาคม 2556) นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ฝนตกหนักทำให้หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งพื้นที่บริเวณแนวสายส่ง บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง
มีผู้ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือนับ 1,000 ครัวเรือน วันนี้ กฟผ. จึงได้ลงพื้นที่นำถุงยังชีพไปแจกจ่ายในพื้นที่อำเภอบางบาล และอำเภอป่าโมก จำนวน 2,000 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดย กฟผ. จะทยอยให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่องต่อไป และขอให้ประชาชนระวังเรื่องการใช้ไฟฟ้า และหากพบเห็นเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงชำรุด เสียหาย หรือมีปัญหาสามารถติดต่อได้ที่ Call Center กฟผ. 1416
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟผ. ได้มอบถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2556 โดย กฟผ. ได้เข้าไปแจกจ่ายถุงยังชีพและให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ภาคอีสาน บริเวณจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 1,000 ครัวเรือน รวมให้ความช่วยเหลือถุงยังชีพและน้ำดื่มทั้งสิ้นจำนวน 1,700 ชุด มูลค่ากว่า 850,000 บาท และปัจจุบัน กฟผ. อยู่ในระหว่างการจัดทำถุงยังชีพเพิ่มเติมอีกจำนวน 20,000 ชุด เพื่อทยอยแจกจ่ายให้กับพื้นที่ประสบภัยทั้งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนตุลาคม 2556 รวมมูลค่ากว่า 6,000,000 บาท นอกจากนี้ กฟผ. ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงาน จัดขบวนรถบรรทุกถุงยังชีพ จำนวน 3,000 ชุด เพื่อไปแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อน กฟผ. ปัจจุบัน (1 ตุลาคม 2556 เวลา 24.00 น.) ส่วนใหญ่ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถรองรับน้ำได้อีกมาก และแม้ว่ามีบางเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุ ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่น่ากังวล ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ และอนุกรรมการที่กำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น คณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ) ได้มีการวางแผนเก็บกักและระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนสิรินธร มีปริมาตรน้ำ 1,752 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 89 อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย มีช่องว่างสามารถรองรับน้ำได้อีก 220 ล้าน ลบ.ม. สามารถจะรองรับพายุจรที่อาจผ่านเข้ามาได้ โดยได้ปิดการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้นแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน เวลา 14.00 น. โดยจะคงการระบายน้ำตามปกติวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. ต่อไป หลังจากที่มีการระบายน้ำผ่านประตูระบายเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นมีปริมาณน้ำในเขื่อน
ร้อยละ 93 มีช่องว่างในอ่างฯ เพียง 130 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46 ซ.ม. และระดับน้ำในอ่างฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กฟผ. จึงได้เปิดประตูระบายน้ำล้นเพื่อรักษาระดับน้ำในอ่างฯ และเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นในระยะนี้ ทำให้มีปริมาตรน้ำ 1,635 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 67 มีช่องว่างสามารถรองรับน้ำได้อีก 797 ล้าน ลบ.ม. โดยระดับน้ำในอ่างฯ สูงเกินเกณฑ์ควบคุมอุทกภัย (Flood Control Rule Curve) ประกอบกับสภาพอากาศปัจจุบัน อยู่ในช่วงที่มีความเสี่ยงที่น้ำจะไหลเข้าเขื่อนในปริมาณมาก จึงมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 13, 16, 19 และ 20 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์พายุดีเปรสชั่นซึ่งอาจส่งผลโดยตรง ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก ทั้งนี้ เขื่อนอุบลรัตน์มีความแปรผันของปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูง ยังคงต้องติดตามสภาพอากาศและปรับแผนการระบายน้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำ 6,073 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 เหลือช่องว่างสามารถรองรับน้ำได้อีก 7,389 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 5,624 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 เหลือช่องว่างสามารถรองรับน้ำได้อีก 3,886 ล้านลบ.ม. ด้านภาคตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาตรน้ำ 15,068 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 85 เหลือช่องว่างสามารถรองรับน้ำได้อีก 2,677 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาตรน้ำ 7,351 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 83 เหลือช่องว่างสามารถรองรับน้ำได้อีก 1,509 ล้าน ลบ.ม.