Guest Relation

Energy

Published on ธันวาคม 4th, 2016 | by Divali

0

โรงไฟฟ้าถ่านหิน “อิโซโกะ” เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น

โรงไฟฟ้าถ่านหิน “อิโซโกะ” เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น
เป็นตัวอย่างหนึ่งของโรงไฟฟ้าชั้นนำของโลก ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิ
มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินปัจจุบันนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบได้อย่างปกติสุข.

ในช่วงวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา “ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนอิโซโกะ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีความทันสมัยและสะอาดที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ที่สามารถบริหารและจัดการในการอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลนครโยโกฮามา ชุมชน และโรงไฟฟ้า ที่มีข้อตกลงร่วมกันในการจะแก้ปัญหามลพิษที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าถ่านหินอิโซโกะ ขนาดกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ของบริษัท เจเพาเวอร์ จำกัด ถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 ใน 7 แห่ง ที่มีกำลังการผลิตรวม 7,812 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 21 % ของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศ ได้นำเอาเทคโนโลยีการกำจัดมลพิษสมัยใหม่มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกำจัดไนโตรเจนออกไซด์ในควันแบบแห้ง ซึ่งสามารถกำจัดได้ถึง 87.5 % อุปกรณ์ดักสารพิษที่ใช้ระบบไฟฟ้าสามารถรวบรวมเขม่าและฝุ่นได้ถึง 99.94 % และเครื่องกำจัดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่สามารถกำจัดได้ถึง 95 %
ขณะที่การลำเลียงถ่านหิน หลังจากขนส่งมาทางเรือแล้ว และถูกป้อนผ่านสายพานระบบปิด ที่เป็นระบบสายพานแรงดันอากาศ สามารถป้องกันการฟุ้งกระจายของเขม่าและฝุ่นต่างๆได้ และการเก็บรักษาถ่านหิน และเถ้าถ่านหิน จะเก็บอยู่ในไซโลที่ปิดอย่างมิดชิดป้องกันการฟุ้งกระจาย จึงทำให้เห็นว่าภายในบริเวณโรงไฟฟ้ามีความสะอาด ไม่มีฝุ่นฟุ้งกระจายของถ่านหินและเถ้าถ่านหิน หรือแม้แต่ถ่านหินก้อนเดียวก็ไม่มีให้เห็นอยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้า
++อัดเม็ดเงินดูแลสิ่งแวดล้อม
นายฮิเดกิ สกูดะ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนอิโซโกะ เมืองโยโกฮามา ได้สะท้อนให้เห็นว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้มีการตั้งมาตั้งแต่ปี 1969 ด้วยกำลังผลิต 530 เมกะวัตต์ จนปัจจุบันได้ขยายกำลังการผลิตขึ้นไปถึง 1,200 เมกะวัตต์ ที่นำเอาเทคโนโลยีสะอาดหรือ Clean technology มาใช้ด้วยเงินลงทุนกว่า 92,000 ล้านบาท ทำให้มลพิษที่ปล่อยออกมาจะต่ำกว่ามาตรฐานที่มีการตกลงร่วมกับท้องถิ่น และสามารถตรวจสอบติดตามผลปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกมาได้ตลอดเวลา ซึ่งจากการได้เข้าเยี่ยมชม ก็พบว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาเพียง 1.6 พีพีเอ็ม และไนโตรเจนไดออกไซด์อยู่ที่ 7 พีพีเอ็ม เท่านั้น ขณะที่โรงไฟฟ้าทั่วไปจะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ระดับ 15 พีพีเอ็ม และไนโตรเจนไดออกไซด์ 20 พีพีเอ็ม
การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษดังกล่าวนี้ จึงทำให้ชาวบ้านยอมรับ แม้ว่าจะอยู่ในเขตเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 3.5 ล้านคนก็ตาม อีกทั้ง การจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่นำไปสู่การตกลงร่วมกันและมีสัญญาในการควบคุมการปล่อยมลพิษ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้าขึ้นมามอบให้เทศบาลเป็นผู้จัดการ นำไปพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
ดังนั้น จากการติดตั้งอุปกณ์กำจัดมลพิษต่างๆ ทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีต้นทุนค่าก่อสร้างสูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วไปประมาณ 20 % เพราะต้องใช้เทคโนโลยีสูง แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่
ส่วนการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในญี่ปุ่นนั้น คงเหมือนกับหลายๆ ประเทศ ที่จะต้องถามชาวบ้านก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเวลานี้เองทุกคนก็เป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่หากมีการเปิดเผยข้อมูลให้ความเข้าใจจริงใจต่อกัน ทำทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม การจะให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นก็จำเป็นต้องแลกกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นด้วย
++โรงไฟฟ้าต้องอยู่ร่วมกับชุมชน
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน)(บมจ.) ได้สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าอิโซโกะว่า เป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในหลายประเทศ ที่มีกระบวนการบริหารจัดการที่ดี ทั้งการผลิตและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนมานานกว่า 30 ปี
อย่างกรณีของโครงการผลิตพลังไอน้ำและไฟฟ้าร่วม ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ผลิตไอน้ำ 420 ตันต่อชั่วโมง และไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิต 220 เมกะวัตต์ ของบมจ.ไออาร์พีซี ใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 21 ไร่ ที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะเปิดเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าป้อนให้กับโรงงานต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงที่ปลดออกจากระบบ ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าได้ 240,000 ตันต่อปี หรือช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้ 5 ล้านบาทต่อวันหรือ 150 ล้านบาทต่อเดือน เป็นโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่นำเอารูปแบบการบริหารจัดการของโรงไฟฟ้าอิโซโกะมาใช้ ที่มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากชุมชนในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มีการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 67 วรรค 2 ในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งใช้กระบวนการขั้นนี้กว่า 1 ปี ถึงจะได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ แม้จะล่าช้ากว่าแผนเดิมที่วางไว้ถึง 2 ปีก็ตาม
++คว้ารางวัลมงกุฎไทย
แต่สิ่งที่ได้รับกลับมา สามารถช่วยลดปัญหากลิ่นเหม็นจากโรงไฟฟ้าเดิมที่ใช้น้ำมันเตาลง สามารถลดการระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากการใช้น้ำมันเตาได้ถึง 40 % อีกทั้งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศได้ถึง 400,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกป่าในพื้นที่ขนาด 23,059 ไร่ ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากโรงไฟฟ้ามากที่สุดของประเทศไทย ทางบมจ.ไออาร์พีซี จึงได้นำโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เข้าร่วมโครงการลดภาวะโลกร้อน เพื่อขายเป็นคาร์บอนเครดิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอขายแก่องค์การสหประชาชาติอยู่ โดยรายได้ที่ได้จากการขายคาร์บอนเครดิตนี้ ทางบมจ.ไออาร์พีซี ส่วนหนึ่งจะนำมาตั้งเป็นกองทุน เพื่อใช้พัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
จากผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ของบมจ.ไออาร์พีซี สามารถคว้ารางวัล”มาตรฐานมงกุฎไทย” ที่จะมีการมอบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามของบมจ.ไออาร์พีซี ที่ต้องการจัดทำมาตรฐานและคุณภาพโครงการกลไกพัฒนาที่สะอาดของประเทศไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลและเป็นแจงจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป
ที่สำคัญโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะเป็นตัวอย่างให้กับโรงไฟฟ้าอื่นๆ สามารถนำไปปฏิบัติใช้ ในการอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบ ที่เป็นผลมาจากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนและโรงไฟฟ้านั่นเอง
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ : 14/ก.พ./2554

 

Please follow and like us:
Pin Share

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑

RSS
Follow by Email