แมงดาทะเล
แมงดาทะเล
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ออร์โดวิเชียน–ปัจจุบัน
ลักษณะทั่วไปของแมงดาทะเล
ใต้ท้องของแมงดาทะเล
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Chelicerata
ชั้น: Merostomata[1]
อันดับ: Xiphosura
วงศ์: Limulidae
Leach, 1819[2]
สกุล Carcinoscorpius Limulus Mesolimulus Tachypleus
การผสมพันธุ์ของแมงดาทะเล
แมงดาทะเล หรือ แมงดา (อังกฤษ: Horseshoe crab) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในไฟลัมอาร์โธรพอด โดยที่ไม่ใช่ครัสตาเซียน แต่เป็นเมอโรสโทมาทา อยู่ในอันดับ Xiphosura และวงศ์ Limulidae
ลักษณะทั่วไป แมงดาทะเล แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนแรก เป็นส่วนของหัวและอกที่เชื่อมติดกัน เรียกว่า Cephalothorax หรือ Prosoma ซึ่งส่วนนี้จัดเป็นส่วนที่เป็นกระดองซึ่งเป็นเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มลำตัว ลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า โดยจะมีสันที่บริเวณด้านข้างตามความยาวของกระดอง นอกจากนี้ส่วนแรกของแมงดาทะเลยังเป็นส่วนที่มีรยางค์ 8 คู่ ซึ่งมีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างกันไปตามหน้าที่การใช้งาน โดยคู่ที่ 1 ไม่เจริญ คู่ที่ 2 เป็นก้ามหนีบ มีขนาดเล็ก อยู่บริเวณด้านหน้าของปาก (Chelicerea) คู่ที่ 3-6 เป็นรยางค์ขา ใช้สำหรับการเดิน ซึ่งส่วนปลายขาเดินจะเป็นก้ามหนีบ และมีหนามเล็ก ๆ อยู่เพื่อช่วยในการบดอาหาร ส่วนคู่ที่ 7 เป็นขาเดิน ที่มีหน้าที่ทำความสะอาดเหงือก และบริเวณปลายของรยางค์คู่นี้จะแยกออกเป็นสี่แฉก ไม่เป็นก้ามหนีบเหมือนกับขาเดินคู่อื่น ๆ มีหน้าที่สำหรับดันพุ้ยดินไปข้างหลังเพื่อฝังตัวในพื้น และรยางค์คู่สุดท้ายหรือคู่ที่ 8 อยู่บริเวณอก ซึ่งลดขนาดลง เรียกว่า “ชิลาเรีย” (Chilaria)
ส่วนที่สอง เป็นส่วนท้อง มีลักษณะเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม บริเวณด้านข้างมีหนาม 6 คู่ ส่วนท้องมีรยางค์ 6 คู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแบน คู่แรกเป็น “แผ่นปิดเหงือก” (Gill Operculum) ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับเหงือก และบริเวณฐานมีช่องสืบพันธุ์ (Genital Pore) 1 คู่ อีก 5 คู่ถัดไปเป็น “เหงือก” (Gill Book) ที่มีรอยพับเป็นริ้ว ๆ ประมาณ 150 ริ้ว เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ
ส่วนที่สาม เป็นส่วนของหางที่มีความแข็งและยาว ส่วนปลายเรียวแหลม มีเอ็นแข็งแรงยึดไว้ เพื่อใช้สำหรับการงอตัวหรือฝังตัวลงไปในดิน หรือใช้ในกรณีที่ต้องการอยู่นิ่งกับที่ในทะเลโดยการใช้หางปักลงกับพื้น และยังสามารถใช้ในการพลิกตัวจากการหงายท้อง รวมทั้งใช้เป็นอาวุธป้องกันศัตรูได้อีกด้วย
วงจรชีวิต
ในช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนกันยายน ของทุกปี แมงดาทะเลจะขึ้นมาวางไข่บนบกตามแนวชายหาด ในวันที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด 2-3 วัน โดยตัวผู้จะเกาะบนหลังเพศเมียโดยการใช้ตะขอเกี่ยวตัวเมียเอาไว้ตลอดฤดูการผสมพันธุ์ แมงดาทะเลเพศเมียจะใช้ขาคู่ที่ 6 ในการขุดทรายเพื่อใช้ในการวางไข่ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยฟอง แล้วตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่ในหลุมทันที จากนั้นตัวเมียจึงทำการกลบไข่ด้วยทรายและโคลนตามเดิม เมื่อไข่แมงดาทะเลได้รับการปฏิสนธิ เวลาผ่านไปประมาณ 14 วัน [4] เปลือกไข่ก็จะแตกออกโดยการได้รับแรงเสียดสีของเม็ดทราย ลูกแมงดาที่ฟักตัวออกมามีลักษณะเหมือนพ่อแม่ จากนั้นในช่วงการเจริญเติบโตตัวอ่อนแมงดาทะเลจะล่องลอยตามกระแสน้ำ และกว่าจะถึงระยะตัวเต็มวัย ตัวอ่อนแมงดาทะเลต้องมีการลอกคราบหลายครั้งด้วยกัน และอัตราการลอกคราบก็จะลดลงเมื่อโตเต็มวัย อาจจะเป็น 10-20 ปีต่อครั้ง ซึ่งแมงดาทะเลที่โตเต็มที่จะมีอายุประมาณ 9-12 ปี จึงมีความพร้อมที่จะสามารถสืบพันธุ์และวางไข่ได้ โดยเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้
จำนวนชนิด
ไฟล์:Limule halong bay.ogg
แมงดาญี่ปุ่น (Tachypleus tridentatus) ที่อ่าวหะล็อง ประเทศเวียดนาม
ทั่วโลกมีแมงดาทะเลมีทั้งหมด 4 ชนิด ใน 3 สกุล แต่พบในประเทศไทย 2 ชนิด คือ แมงดาถ้วย (Carcinoscorpius rotundicauda) และแมงดาจาน (Tachypleus gigas)
สกุล Carcinoscorpius
แมงดาถ้วย หรือ แมงดาหางกลม (Carcinoscorpius rotundicauda) พบในอินเดีย จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ประเทศไทย)และเอเชียตะวันออก รวมทั้งอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง
สกุล Limulus
แมงดาแอตแลนติก (Limulus polyphemus) พบตามชายฝั่งทางตะวันออกบริเวณเหนืออ่าวเม็กซิโก
สกุล Tachypleus
แมงดาจาน หรือ แมงดาหางเหลี่ยม (Tachypleus gigas) พบในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย)
แมงดาญี่ปุ่น หรือ แมงดาจีน (Tachypleus tridentatus) พบตามชายฝั่งเอเชียตะวันออก
การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการของแมงดาทะเล
แมงดาทะเลเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่ได้ขึ้นจากน้ำมาเพื่อวางไข่บนบกซึ่งได้วิวัฒนาการมาเป็นแมลงจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นฟอสซิลมีชีวิตอีกจำพวกหนึ่งในโลก แมงดาทะเลในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีรูปร่างหน้าตาไม่แตกต่างจากแมงดาทะเลในยุคปัจจุบันเท่าไหร่นัก
ประโยชน์ของแมงดาทะเล
นอกจากจะมีประโยนช์ในการเป็นอาหารของมนุษย์แล้วยังพบว่า แมงดาทะเลมีเลือดที่เป็นสีน้ำเงิน (hemocyanin) เนื่องจากมีทองแดงผสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์ โดยการใช้เลือดแมงดาทะเลไปสกัดเป็นสารที่เรียกว่า Limulus amoebocyte lysate (LAL) ในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายที่อาจจะปนเปื้อนในวัคซีน หรือในอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ซึ่งหากมีจุลชีพก่อโรคแม้เพียงหนึ่งในล้านส่วน โปรตีนที่สกัดได้จากเลือดแมงดาทะเลจะเกิดการจับตัวกันเป็นก้อนทันที [9] และในปัจจุบันพบว่ามีการนำไปผสมลงในวัคซีนเพื่อนำไปสู่กระบวนการการให้วัคซีนแก่ผู้ป่วย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี