Guest Relation

NEWS

Published on กุมภาพันธ์ 19th, 2015 | by Divali

0

เกี่ยวกับคำพิพากษาคดีเหมืองแม่เมาะ

จากข่าวที่ออกจากทุกสำนักข่าวเกี่ยวกับคำพิพากษาคดีเหมืองแม่เมาะ ทุกสำนักสรุปไปในเชิงลบต่อ กฟผ. เหมือนว่า กฟผ. ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนศาลต้องสั่งให้ทำ แล้วจึงค่อยทำ เพราะทุกคนอ่านแต่หน้าสุดท้ายของคำพิพากษาที่ศาลสรุปมาตรการให้ดำเนินการ แต่หากอ่านเนื้อหาของคำพิพากษาที่ศาลวินิจฉัย จะพบว่า ศาลมีข้อคิดเห็นและข้อสรุปที่เป็นผลเชิงบวกต่อ กฟผ. มากมายหลายเรื่อง แต่ไม่มีใครนำเสนอ ทางข่าว PR ควรนำเสนอแง่มุมเหล่านี้ ให้คน กฟผ. และคนภายนอกได้รับทราบเพื่อช่วยกันเผยแพร่ต่อ เพื่อกู้ชื่อเสียง กฟผ.ดังนี้

1. เรื่องการขนดินไปเก็บกองนอกเขตประทานบัตร ศาลวินิจฉัยสรุปว่าไม่ผิด โดยระบุว่า กฟผ. จัดสร้างแนวคันดิน เพื่อเสริมมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านฝุ่นและเสียง และมีแผนดำเนินการที่ชัดเจน ไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือละเลยหน้าที่ตามกฎหมาย

2. การรักษาความชื้นในขณะโม่ดินและถ่านหิน กฟผ. ทำได้ดีกว่าที่กำหนดในมาตรการ ไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือละเลยหน้าที่ตามกฎหมาย

3. การรื้อม่านน้ำบริเวณที่ทิ้งดินก็เพราะ กฟผ. เปลี่ยนไปใช้วิธีปลูกต้นสนเป็นแนวกำบังแทน ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนไปใช้วิธีการที่ดีกว่า เพียงแต่ กฟผ. ทำไปก่อนที่จะขออนุญาตเปลี่ยนวิธีการ

4. เรื่องอพยพราษฎร ในรัศมี 5 กม. ศาลก็เห็นว่า กฟผ. ดำเนินการแล้วบางส่วน โดยศาลระบุว่า หากยังมีราษฎรในรัศมี 5 กม. ที่ต้องการย้ายออก และเขาพิสูจน์ได้ว่าเขาได้รับผลกระทบจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ให้ กฟผ. ตั้งคณะทำงานร่วมกันพิจารณา จะเห็นว่า ตามเงื่อนไขของศาลคือ หากราษฎที่เหลือยังมีความประสงค์จะย้ายและเขาพิสูจน์ตามเงื่อนไขของศาลได้ กฟผ. จึงค่อยตั้งคณะทำงานพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าเขาคงพิสูจน์ไม่ได้ว่าอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต เพราะศาลก็กล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า เหมืองแม่เมาะไม่ได้สร้างมลภาวะ

5. เรื่อง wet land กฟผ. ไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในประทานบัตร เพราะกฟผ. เลือกใช้วิธีอื่นที่ดีกว่า เพียงแต่ กฟผ. ดำเนินการไปเลยโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กพร. แต่ได้รับอนุญาตจาก สผ. แล้ว

6. ศาลวินิจฉัยว่า จากการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าสาเหตุของฝุ่นละอองส่วนใหญ่ที่แม่เมาะมาจากการเผาไหม้มวลชีวภาพและท่อไอเสียรถ ไม่ใช่เกิดจาก กฟผ. ละเลยหน้าที่ ผู้ฟ้องไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าได้รับความเสียหายเป็นผลมาจาก กฟผ. ละเลยหน้าที่ตามกฎหมาย กฟผ. จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามที่ผู้ฟ้องขอมาพันกว่าล้านบาท

7. ศาลวินิจฉัยว่า เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีการและเงื่อนไขการทำเหมืองของ กฟผ โดยไม่ได้รับอนุญาต จาก สผ ก่อน แต่ก็ไม่ปรากฎว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อส่วนรวมที่ร้ายแรงขนาดที่จะสั่งเพิกถอนประทานบัตร และต่อมา กฟผ. ก็ได้รับอนุมัติจาก สผ. ให้ดำเนินการตามวิธีการที่เปลี่ยนแปลงนั้น

8. ศาลยกประเด็นที่ กฟผ. กล่าวว่า สนามกอล์ฟอยู่ในแผนผังการฟื้นฟูที่ระบุในรายงาน EIA แต่เพราะ กฟผ. ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงนี้ต่อสู้แต่แรก ศาลจึงไม่รับพิจารณา ซึ่ง ปษ. เห็นว่าหากยกต่อสู้แต่แรก ศาลก็คงไม่สั่งให้ดำเนินการปลูกป่าทดแทน

ถ้าอ่านคำพาพากษาให้รอบคอบ จะรู้ว่า กฟผ. ดำเนินการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วอย่างดีเกินมาตรฐาน เพียงแต่เปลี่ยนเป็นวิธีการที่ดีขึ้นในบางเรื่อง จะบกพร่องก็เพียงไม่ขออนุญาตเปลี่ยนวิธีก่อน

อาจเป็นเพราะเข้าใจว่าได้ผลดีกว่าเดิมเลยไม่ขออนุญาต และภายหลังก็ได้รับอนุญาต จาก สผ. แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ กฟผ. ทำดีเกินกว่ามาตรฐานเพื่อป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ข่าวที่ออกไป ทำให้คนเข้าใจผิดไปว่า กฟผ. ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกัน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนต้องให้ศาลสั่งแล้วจึงทำ

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑