เกษตรกระบี่ แนะป้องกันโรครากขาวยางพาราโดยชีววิธี
นายชำนาญ นุ่นดำ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดกระบี่ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 800,000 กว่าไร่ และในขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งในฤดูฝนนั้นยางพาราโดยเฉพาะยางที่เปิดกรีดแล้วจะมีความเสี่ยงต่อการเข้าทำลายของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรครากขาว
โดยยางพาราที่เป็นโรคนี้แล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้นยางจะตายในที่สุด ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรครากขาวของยางพารา สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่จึงได้ร่วมกับศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดฝึกอบรมเกษตรกรชาวสวนยางให้รู้จักวิธีการป้องกันโรคดังกล่าวของยางพารา โดยการใช้เชื้อราไตรโกรเดอร์มาเป็นตัวควบคุมเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ และได้ฝึกปฏิบัติการผลิตขยายเชื้อราไตรโกรเดอร์มาเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตไว้ใช้เองได้
โดยได้ฝึกอบรมแก่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลเพหลา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
สำหรับเชื้อราไตรโกรเดอร์มาเป็นเชื้อราที่มีประโยชน์ ไม่ทำให้พืชเป็นโรค และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคพืชหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นโรครากเน่า โคนเน่า โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา รวมถึงสามารถควบคุมเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรครากขาวในยางพาราได้เป็นอย่างดี โดยเชื้อราไตรโกรเดอร์มานี้จะทำลายเชื้อราสาเหตุโรคพืชโดยการใช้เส้นใยพันรัดและแทงเข้าไปในเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืช ทำให้เชื้อราโรคพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้และตายในที่สุด
นายชำนาญ กล่าวอีกว่า การควบคุมโรคยางพาราโดยวิธีดังกล่าวนี้เป็นการควบคุมโดยชีววิธีไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และถ้าหากว่าดินมีความชื้น สภาพแวดล้อมเหมาะสมแล้วเชื้อราไตรโกรเดอร์มาก็จะเจริญเติบโตและขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนในแปลงยางสามารถควบคุมโรคได้อย่างยั่งยืน
สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะผลิตเชื้อราไตรโกรเดอร์มา ไว้ใช้เองสามารถติดต่อไปได้ที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งพร้อมที่จะให้คำแนะนำในเรื่องนี้