Guest Relation

NEWS

Published on มีนาคม 1st, 2015 | by Divali

0

หนึ่งทศวรรษ กฎหมายบุหรี่โลกไม่สุดโต่ง

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 นี้ เป็นวันครบรอบ 1 ทศวรรษ : การบังคับใช้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ซึ่งกรอบอนุสัญญาฯ เริ่มมีผลบังคับใช้ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2548

ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันเป็นประเทศลำดับที่ 36 ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 ปัจจุบันนี้ มี 180 ประเทศเป็นรัฐภาคี ครอบคลุมประชากรเกือบ 90% ทั่วโลก โดยในกลุ่มประเทศอาเซียน มีเพียงประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ที่ยังไม่ได้ลงนามให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคี เนื่องจากการขัดขวางของบริษัทยาสูบ

วัตถุประสงค์ของกรอบอนุสัญญาฯ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในปัจจุบัน และชนรุ่นหลังจากพิษภัยร้ายแรงของการใช้ยาสูบ และการได้รับควันยาสูบ ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีตามกรอบอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550

มาตรการการควบคุมยาสูบของประเทศไทย ที่ได้อนุวัติตามข้อกำหนดของ FCTC แล้ว อาทิ การจัดพิมพ์คำเตือนพิษภัยเป็นรูปภาพบนซองผลิตภัณฑ์ยาสูบ การห้ามโฆษณา CSR ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ การห้ามแสดงซองบุหรี่ ณ จุดขาย การกำหนดแนวทางการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการยาสูบกับเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรค การจัดสรรงบประมาณจากภาษียาสูบเพื่อสนับสนุนการควบคุมยาสูบ และการกำหนดสถานที่สาธารณะและที่ทำงานเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% เป็นต้น

กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ ทำให้ประเทศต่าง ๆ สามารถกำหนดมาตรการการควบคุมยาสูบ ตามข้อกำหนดในมาตราต่าง ๆ ของกรอบอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นข้อกำหนดเชิงประจักษ์

ทั้งนี้ ข้อกำหนดต่าง ๆ ภายใต้กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำ ที่รัฐภาคีสามารถที่จะกำหนดมาตรการหรือกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่าได้ ซึ่งการที่ประเทศไทยยกร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่นี้ ก็ได้นำข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการลดการเข้าถึงยาสูบของเด็กและเยาวชน มาบัญญัติไว้

โดยไม่มีบทบัญญัติใด ที่เข้มงวดไปกว่าที่กำหนดไว้ในกรอบอนุสัญญาฯ จึงไม่ใช่ร่างกฎหมายที่สุดโต่ง ตามที่ธุรกิจยาสูบกล่าวอ้าง หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงแก่สาธารณะในช่วงที่ผ่านมา

กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ เป็นกรอบอนุสัญญาที่มีพันธะผูกพัน (Binding) ต่อรัฐภาคี แต่ไม่มีบทลงโทษ เพียงแต่ประเทศที่ไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดของกรอบอนุสัญญาฯ จะถูกประชาคมโลกมองว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน จากการเสพติด และพิษภัยยาสูบ

ในขณะที่ประเทศที่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดของกรอบอนุสัญญาฯ ได้ ยิ่งมากเท่าใด ประเทศนั้นก็จะได้รับประโยชน์จากการที่สุขภาพของประชากรดีขึ้น จากการบริโภคยาสูบที่ลดลง

จากรายงานของ 126 ประเทศ ในปี พ.ศ. 2554 อุปสรรคที่สำคัญที่สุด 4 ประการแรก ในการที่รัฐภาคีจะดำเนินการตามข้อกำหนดของ FCTC คือ

1. การแทรกแซง และขัดขวางนโยบายควบคุมยาสูบ โดยธุรกิจยาสูบ
2. ขาดความมุ่งมั่นทางการเมือง (Political will)
3. การได้รับงบประมาณในการควบคุมยาสูบ ที่ไม่เพียงพอ
4. การขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 0-2278-1828 / 08-1822-9799

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑