สนข. จัดประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน การศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี – พังงา – ภูเก็ต ครั้งที่ ๒
เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลา ๐๘.๔๕ น.ที่โรงแรมภูงา อำเภอเมือง จังหวัดพังงา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้จัดประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน การศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี – พังงา – ภูเก็ต ครั้งที่ ๒ โดยมีนายชัยวัฒน์ เทพี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานในพิธีเปิด มีผู้เข้าประชุมประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนหน่วยงานราชการกลุ่มผู้นำทางด้านความคิด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการดังกล่าว ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ผอ.สนข.) กล่าวภายหลังพิธีเปิดการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน ว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่ศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวสูง เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี ที่จะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมขนส่งที่คับคั่งในปัจจุบัน และสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันโดยการพัฒนาทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี -พังงา – ภูเก็ต เพื่อขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟระหว่างฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยกับพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นอีกโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเป็นพื้นที่เป็นหมายของการพัฒนาเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระดับโลก
นายจุฬาฯ กล่าวถึงแนวเส้นทางในการศึกษาทางรถไฟ (ทางคู่) สายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี – พังงา (ท่านุ่น) บริเวณเส้นทางสายสุราษฎร์ธานี – ท่านุ่น ว่าจากผลการศึกษาของโครงการฯแนวทางในการพัฒนาทางรถไฟสายนี้ จะดำเนินการพัฒนาโครงการต่อเนื่องจากโครงการเดิม ของ รฟท. ตามแนวเส้นทางรถไฟสายชุมทางทุ่งโพธิ์-ท่านุ่น โดยจุดเริ่มต้นแนวทางรถไฟ เริ่มจากสถานีคีรีรัฐนิคมที่ กม.๖๖๒ โดยเส้นทางที่จะต่อเชื่อมออกมาในทางตะวันตกเฉียงใต้ ข้ามแม่น้ำพุมดวง ตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๑ ที่ ตำบลพังกาญจน์ ผ่านพื้นที่ราบ ที่ราบเชิงเขาไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๑๑๘ ที่ กม ๖๙๐+๕๐๐ หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะขนานไปกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๑๑๘ สลับซ้าย-ขวา ผ่านพื้นที่ราบ ที่ราบเชิงเขา ของแนวเทือกเขาภูเก็ต ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๔ ที่ กม. ๗๓๐+๔๐๐ อำเภอทับปุด โดยแนวเส้นทางผ่านเนินเขา ในช่วงปลายทาง หลังจากนั้นแนวเส้นทางได้ไปบรรจบและขนานกับทางหลวงแผ่นดินหายเลข ๔๑๕ ที่ตำบลบ่อแสน จนถึง กบ. ๗๕๓-๕๐๐ แนวเส้นทางจะอ้อมภูเขา ข้ามคลองต่าง ๆ ผ่านพื้นที่ราบเชิงเขา เข้าสู่เทศบาลเมือง จังหวัดพังงา หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะปรับไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ขนานไปกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ผ่านอำเภอ ตะกั่วทุ่ง แนวเส้นทาง ผ่านพื้นที่ราบ ที่ราบชายฝั่งทะเล ตัดผ่านคลองต่าง ๆ จนสิ้นสุดโครงการที่ กม. ๗๔๓ ที่บ้านท่านุ่น รวมระยะทางโดยประมาณ ๑๓๑ กิโลเมตร
นายจุฬาฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงผลสรุปแนวเส้นทางรถไฟสายใหม่ (ทางคู่) ช่วงอำเภอดอนสัก – จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายใต้) ซึ่งแนวเส้นทางจะใช้เส้นทางของทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบัน จากสถานีสุราษฏร์ธานี ถึงบริเวณสถานีเขาพลู ตำบลเขาหัวควายอำเภอพุนพิน ระยะทางประมาณ ๑๔ กิโลเมตร แนวเส้นทางรถไฟจะตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๔ ที่ตำบลท่าเรือ จากบริเวณนี้เลี้ยวซ้ายไปตามแนวเขตทางของทางหลวงหมายเลข ๔๔ ซึ่งมีการกันเขตทางไว้แล้วรวม ๒๐๐ เมตร สำหรับเป็นพื้นที่วางท่อส่งน้ำมันรวมทั้งสาธารณูปโภค ๔๐ เมตร และเขตทางรถไฟ ๖๐ เมตร มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงอำเภอกาญจนดิษฐ์ หลังจากนั้นต้องทำการตัดแนวทางใหม่ เป็นระยะทางประมาณ ๒๖ กิโลเมตร แล้วมุ่งสู่อำเภอดอนสัก รวมระยะทางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี – อำเภอดอนสัก ประมาณ ๗๗ กิโลเมตร
ต่อข้อสอบถามว่าเส้นทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี – พังงา – ภูเก็ตไม่ผ่านจังหวัดกระบี่หรือ ผอ.สนข.กล่าวว่ามีโครงการศึกษาทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยานกระบี่ ซึ่งเป็นการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อจากเส้นทางสายใหม่เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี – พังงา – ภูเก็ต ไปยังทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยานกระบี่ โดยแนวเส้นทางการเชื่อมต่อจากแนวเส้นทางรถไฟสายคีรีรัฐนิคม-ท่านุ่น หลังจากที่แนวเส้นทางมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดพังงา ผ่านตำบลบางเหรียง ตำบลโคกเจริญ เข้าสู่ตำบลทับปุด ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) ซึ่งเป็นเส้นทางรถยนต์ที่สามารถเดินทางไปสู่จังหวัดกระบี่ และห่างจากถนนเพชรเกษม ๑๐๐-๒๐๐ เมตร ขนานไปกับแนวเขตเสาไฟฟ้าแรงสูงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดกระบี่ แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางเลี่ยงเมืองไปทางทิศตะวันออก เชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยานกระบี่ รวมระยะทางโดยประมาณ ๖๘ กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมให้โครงข่ายที่พัฒนาขั้นใหม่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงสองฝั่งทะเล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้และเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยให้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญกับจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวสูง เช่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต และกระบี่
“ภายหลังจากประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนฯ สนข. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมไปใช้ประกอบการศึกษาพัฒนาโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป โดยคาดว่าเมื่อการดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยว และเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันของจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย โดยการพัฒนาโครงการจะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทางไปยังพื้นที่กลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา และกระบี่รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดของจังหวัดภูเก็ต ด้วยการสร้างทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ และมาตรฐาน สามารถบรรเทาปัญหาการคมนาคมขนส่งที่บังคับของจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันในปัจจุบัน และลดต้นทุนการขนส่งให้ถูกลงจากเดิมที่ใช้ทางรถยนต์เป็นหลัก และก่อให้เกิดผลดีในด้านเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการ รวมทั้งสามารถลดมลพิษที่เกิดจากการคมนาคมขนส่งในปัจจุบัน ซึ่งการส่งเสริมให้ยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน” นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ผอ.สนข.) กล่าว
ภาพและข่าว : ไพฑูรย์ ล่องเพ็ง