Guest Relation

NEWS

Published on กันยายน 12th, 2014 | by Divali

0

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

“ภาคการเกษตร” เป็นแหล่งรายได้ของประเทศและแหล่งอาหารเลี้ยงปากท้องคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ในภาวะปัจจุบันเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ ต้นทุนการผลิตสูง พื้นที่เพาะปลูกขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตที่ได้รับมีปริมาณน้อย คุณภาพต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ จึงประสบกับภาวะขาดทุน เกิดปัญหาหนี้สินรุมเร้าจนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งหาหนทางให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องการลดต้นทุนการ ผลิต การเพิ่มปริมาณและพัฒนาคุณภาพของผล ผลิตการเกษตร จึงให้มีการดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มผลผลิตการเกษตร” หรือ “แปลงสาธิต” เพื่อเป็นจุดดูงานด้านการลดต้นทุน เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต” ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ

วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการโครงการนี้ คือ เพื่อให้มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต และเทคโนโลยีการเกษตรให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายที่กำหนดไว้  คือ จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ศูนย์ทั่วประเทศ รวม 882 แห่ง ให้เป็นต้นแบบและมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเกษตรกรจำนวน 176,400 คน หรือ 200 คนต่อศูนย์ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และมีระบบการผลิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

องค์ประกอบของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร  ดังนี้

1 .แปลงเรียนรู้ เป็นแปลงของเกษตรกรต้นแบบที่ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละพื้นที่

2. เกษตรกรเจ้าของแปลงเรียนรู้จะต้องมีความรู้ ทักษะ และความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้

3. ฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร คือ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต และพัฒนาคุณภาพผลผลิต

4. หลักสูตรการเรียนรู้ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอ และเกษตรกรต้นแบบ ร่วมกันกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้

กลไกการทำงาน  “สำนักงานเกษตรจังหวัด” และ “สำนักงานเกษตรอำเภอ” ทั่วประเทศ ดำเนินการคัดเลือกแปลงเรียนรู้และเกษตรกรต้นแบบนำร่อง อำเภอละ 1 จุด เพื่อนำมาดำเนินการเป็นศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ รวมทั้งหมด 882 จุด โดยสำนักงานเกษตรอำเภอ จะเข้าไปปรับปรุงและพัฒนาศูนย์เรียนรู้ของเกษตรกรต้นแบบ เพื่อให้มีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งจัดการศึกษาดูงานให้กับเกษตรกรต้นแบบซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์
จากนั้นสำนักงานเกษตรอำเภอจะร่วมกับเกษตรกรต้นแบบ กำหนดและจัดทำแผนหรือหลักสูตรการเรียนรู้ของเกษตรกรที่จะเข้ามาเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้อย่างน้อยแห่งละ 200 คน ภายในเดือนกันยายน 2557

การดำเนินการครั้งนี้จะช่วยให้เกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินการผลิตสินค้าเกษตรของตนเองได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพมากยิ่งขึ้น  ที่สำคัญจะช่วยให้เกษตรกรเกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

———————————————————————————–

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑