Guest Relation

NEWS

Published on มีนาคม 1st, 2015 | by Divali

0

ศาลปกครองเชียงใหม่ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณี แม่เมาะ

ในคดีหมายเลขดำที่ อ. ๑๑๑๐-๑๑๒๘/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ อ. ๗๓๐-๗๔๘/๒๕๕๗ ระหว่างนายคำ อินคำปาหรืออินจำปา กับพวกรวม ๑๓๑ คน (ผู้ฟ้องคดี) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๙ สำนวน ๑๓๑ คน ฟ้องมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ละเลยไม่ควบคุมบำบัดฝุ่นหิน ฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งมีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในท้องที่อำเภอแม่เมาะ เจ็บป่วยเป็นโรคนิวโมโคนิโอซิส (โรคปอดอักเสบจากฝุ่นหิน) โรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สัตว์เลี้ยงและพืชผลทางการเกษตรเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวันฟ้อง ค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพ ค่าทดแทนการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกาย สุขภาพ และอนามัย ความสูญเสียทางด้านจิตใจ ความสูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติจนกว่าจะเสียชีวิต ค่าไร้ประโยชน์ในการใช้ที่ดิน ที่พักอาศัยในการทำมาหากินได้โดยปกติสุขเป็นเวลา ๒๐ ปี ต่อไปในอนาคต ค่าเสียหายของพืชไร่ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหลังจากวันฟ้องจนถึงอายุ ๘๐ ปี

ซึ่งเป็นค่าเสียหายในอนาคต และมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีหยุดการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินลิกไนต์จนกว่าจะมีวิธีการป้องกันมลพิษ และให้ฟื้นฟูคุณภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในท้องที่อำเภอแม่เมาะให้กลับคืนสภาพเดิม

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุมกำจัดฝุ่นละออง และผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๙ สำนวนไม่ได้เจ็บป่วยเป็นโรคโรคปอดอักเสบจากฝุ่นหินจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดในกรณีนี้ ส่วนกรณีมลพิษจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ
โดยมิได้มีการบำบัดอากาศเสียจนทำให้มีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไปเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๕ จนถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๑ และมิใช่เหตุสุดวิสัย เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุมกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

จนทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบจากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ดังกล่าว ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๙๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ และกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่อยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่าค่าที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว รายละ ๒๔๖,๙๐๐ บาท ส่วนรายอื่นให้ได้จำนวนเงินตามระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่จริง

อย่างไรก็ตาม มีผู้ฟ้องคดีบางรายได้ไปตรวจรักษากับแพทย์ปรากฏตามใบรับรองแพทย์ระบุวันทำการตรวจวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๕ วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๕ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๕ วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๕ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๕ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๕ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๕ และวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๕ แต่ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๖

จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี อีกทั้งข้อหาที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายนั้น มิใช่เป็นการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล และมิได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นแต่อย่างใด จึงไม่อาจรับคำฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีรายดังกล่าวได้

ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดีบางราย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกผู้ฟ้องคดีบางราย และผู้ถูกฟ้องคดี (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเบื้องต้นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๙ สำนวน ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีบางรายจะได้ไปตรวจรักษากับแพทย์และได้รับใบรับรองแพทย์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ก็ตาม แต่โดยที่โรค
เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมีหลายประเภท บางประเภทจะต้องใช้เวลานานหลายปีในการสูดเอาฝุ่น ละออง ควัน หรือมลพิษเข้าไปสะสมในร่างกายจนถึงระดับหนึ่งจึงจะมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจหรือปอด
ทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือโรคปอดซึ่งมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง การที่จะตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า เจ็บป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นหินและโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือไม่

จึงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังที่ปรากฏว่าหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีในสำนวนคดีสุดท้ายยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ แล้ว มีผู้ฟ้องคดีจำนวนหลายรายที่ยังต้องเข้ารับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และแม้จะตรวจพบว่าเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าโรคดังกล่าวเป็นผลมาจากการกระทำของโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ได้ปล่อยมลพิษออกสู่บรรยากาศ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๙ สำนวนที่ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้

มีลักษณะเฉพาะแห่งคดีอย่างเดียวกัน คือ เป็นประชาชนที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแม่เมาะอันเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีเจ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ก่อให้เกิดมลพิษออกสู่บรรยากาศจนทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๙ สำนวน เจ็บป่วยได้รับอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยจากการกระทำดังกล่าวเช่นเดียวกัน จากคำฟ้องและข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๙ สำนวน รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีอย่างช้าที่สุดในปี พ.ศ. ๒๕๔๖

ก่อนฟ้องคดี การที่ผู้ฟ้องคดีบางรายยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองชั้นต้นเป็นคดีสุดท้าย เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ จึงเป็นการฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีได้ปล่อยฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศจนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายต่อร่างกาย สุขภาพ อนามัย และทรัพย์สินเสียหาย หรือไม่ และผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดมลพิษคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพของสิ่งแวดล้อม อันเป็นการกระทบสิทธิในการดำรงชีพอย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลที่มิได้ถูกจำกัดเฉพาะเพียงแต่การมีชีวิตอยู่เยี่ยงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เท่านั้น แต่บุคคลย่อมมีสิทธิในการดำรงชีพอย่างปกติสุขด้วย และสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้การรับรองและคุ้มครองไว้

รวมถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ต้องการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มุ่งคุ้มครองสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน ควบคุมมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิด เยียวยาทางแพ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากแหล่งกำเนิดมลพิษ และลงโทษผู้กระทำผิด เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามีการปล่อยอากาศเสียประเภทก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นละออง
ซึ่งเป็นมลพิษออกสู่บรรยากาศ และมีประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

เรื่อง กำหนดให้โรงไฟฟ้าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๙ ประกอบกับประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๔๔)

เรื่อง กำหนดให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๔ โรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีหน้าที่ในการควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่บทบัญญัติมาตรา ๙๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย หากว่ามีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือเสียหาย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของรัฐเสียหาย โดยไม่ต้องคำนึงว่าอันตรายหรือ
ความเสียหายดังกล่าวจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีสามารถพิจารณาได้ดังนี้

กรณีมลภาวะจากฝุ่นละออง ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีว่าได้มีการเก็บตัวอย่างและตรวจวัดค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองในพื้นที่อำเภอแม่เมาะโดยนายอาภา หวังเกียรติ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะ พบว่าจากตัวอย่างของฝุ่นละอองส่วนมากมีแหล่งที่มาจากการเผาไหม้มวลชีวภาพและรถยนต์ มิได้เกิดจากการปล่อย
ทิ้งอากาศเสียของผู้ถูกฟ้องคดี แม้จะมีฝุ่นละอองที่ไม่ทราบแหล่งที่มาอยู่บ้างแต่ก็มีเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศแล้วไม่มีความแตกต่างกัน

ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีได้ติดตั้งเครื่องกำจัดฝุ่นชนิดไฟฟ้าสถิตแรงสูงในทุกโรงไฟฟ้า มีมาตรการควบคุมฝุ่นละอองภายในบริเวณโรงไฟฟ้าด้วยการราดน้ำบนวัสดุที่มีฝุ่นฟุ้งกระจายอยู่เสมอ และไม่พบว่ามีพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีเจ็บป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นหิน จึงถือไม่ได้ว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีก่อให้เกิดการแพร่กระจายของฝุ่นละอองที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๙๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่อย่างใด

กรณีมลภาวะจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อพิจารณามาตรฐานค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๔)

เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕

เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕

เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา ๑ ชั่วโมง และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๔๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕

เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา ๑ ชั่วโมง แล้วเห็นว่า ค่าเฉลี่ยฯ ไม่เกิน ๗๘๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เป็นค่าเฉลี่ยฯ ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพอนามัย และเป็นค่ามาตรฐานโดยทั่วไปที่ใช้กับประชาชนทั้งประเทศ

แม้จะมีการกำหนดค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา ๑ ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กำหนดให้ค่าเฉลี่ยฯ ไม่เกิน ๑,๓๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็ตาม แต่ถ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีได้มีการปล่อยทิ้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศจนทำให้มีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า ๗๘๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ถึงจะไม่เกิน ๑,๓๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี และไม่ปรากฏเหตุยกเว้นความรับผิด ผู้ถูกฟ้องคดีก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๙๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕

กรณีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานฉบับสมบูรณ์แนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ ในพื้นที่หมู่บ้านหัวฝาย และหมู่บ้านห้วยเป็ด ของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการดำเนินการของการไฟฟ้า
ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ จัดทำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ที่ได้รวบรวมข้อมูลผลการตรวจวัดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๓๕ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๔๕ ปรากฏว่าระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๕ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๑ รวม ๗๐ เดือน

ตรวจพบว่า มีทั้งกรณีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า ๗๘๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเกินกว่า ๑,๓๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หลังจากนั้นเป็นต้นมาไม่มีกรณีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า ๗๘๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าจังหวัดลำปางได้มีคำสั่งจังหวัดลำปาง ที่ ๒๐๑๔/๒๕๔๑ แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการแพทย์ จากกรณีที่มีราษฎรได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในระหว่างวันที่ ๑๗ ถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ และผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบรายละ ๓,๐๐๐ บาท สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มีราษฎรฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดลำปาง

ศาลจังหวัดลำปางวินิจฉัยว่ามลภาวะในพื้นที่อำเภอแม่เมาะเกิดจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในคดีดังกล่าว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นฟังได้ว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีปล่อยทิ้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ โดยไม่ได้บำบัดหรือควบคุมทำให้มีปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชน คือ มีค่าเฉลี่ยฯ
เกินกว่า ๗๘๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ควรเป็นและเกินกว่า ๑,๓๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๓๘)ฯ กำหนดไว้

อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการปล่อยทิ้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะในช่วงเวลาที่มีการแพร่กระจายของ
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีค่าเฉลี่ยฯ สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานและที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ
ผู้ถูกฟ้องคดีจนเจ็บป่วยเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคปอด หรือเกิดอาการระคายเคืองตามเยื่อบุผนัง
ตามร่างกาย

จึงเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายเสียหายจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่แพร่กระจายจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบกับการที่ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะสูงเกินกว่ามาตรฐานที่ควรเป็นและสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดติดต่อกันเป็นเวลานาน เกิดจากผู้ถูกฟ้องคดีใช้วิธีการบำบัดอากาศเสียด้วยการปล่อยทิ้งทางปล่องระบายอากาศของ
โรงไฟฟ้าแต่ละโรงที่มีความสูง ๘๐ เมตร และ ๑๕๐ เมตร เพื่อให้เกิดการเจือจางของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศชั้นบน

ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทราบดีอยู่แล้วว่าสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศของอำเภอแม่เมาะเป็นที่ราบหุบเขาเสมือนแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบเกือบทุกด้าน สภาวะอากาศส่วนใหญ่เป็นภาวะลมสงบค่อนข้างนาน กระแสลมที่พัดผ่านมีความเร็วค่อนข้างต่ำ ทำให้การกระจายตัวของอากาศไม่ดีนัก อากาศจะคงตัวอยู่ในพื้นราบหุบเขาบริเวณอำเภอแม่เมาะเป็นระยะเวลานาน

แม้ว่าต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีจะได้ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซ FGD ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีทุกโรงแล้วแต่ก็มิได้ดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ตามปกติจนทำให้เกิดเหตุการณ์เครื่องกำจัดก๊าซ FGD ใช้งานได้เพียง ๒ เครื่อง จากจำนวนทั้งหมด ๘ เครื่อง ในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๑ ทั้งที่สามารถคาดการณ์เรื่องดังกล่าวได้ล่วงหน้าและสามารถที่จะระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

จึงมิใช่เหตุสุดวิสัยที่จะเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดียกขึ้นเป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดตามมาตรา ๙๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้น เมื่อโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จนทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๑๙ สำนวนได้รับอันตราย เสียหายจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่แพร่กระจายจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดี

ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๙๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ส่วนจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพียงใด นั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

๑) กรณีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวันฟ้องและภายหลังจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงอายุ ๘๐ ปี ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกฟ้องคดีออกไปทำการตรวจรักษาราษฎรเป็นประจำทุกสัปดาห์และเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตลอดจนค่าพาหนะ ประกอบกับตามรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๔๑ เป็นต้นมา พื้นที่อำเภอแม่เมาะไม่มีกรณีที่ค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า ๗๘๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นค่ามาตรฐานโดยทั่วไปที่จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สุขภาพและอนามัย กับประชาชนทั้งประเทศ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องและจำเป็นที่จะต้องทำการรักษาพยาบาลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าใช้จ่ายและขอให้ศาลสงวนสิทธิ
ที่จะแก้ไขคำพิพากษาในส่วนนี้ได้

๒) กรณีค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพ และค่าทดแทนความสูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติสุข เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้เสนอพยานหลักฐานต่อศาลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่าโรคดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพจนทำให้ขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพอย่างไร หรือทำให้สูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติสุขอย่างไร และผู้ฟ้องคดีแต่ละรายประกอบอาชีพหรือมีรายได้เท่าใด
ยังฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีต้องขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพหรือสูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิต
อย่างคนปกติสุข จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้

๓) กรณีค่าทดแทนการเสื่อมสมรรถภาพ สุขภาพและอนามัย และความสูญเสียทางด้านจิตใจ
ปรากฏตามรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๕ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๑ เป็นเวลา ๗๐ เดือน มี ๖๗ เดือน โรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
มีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า ๗๘๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเกินกว่า ๑,๓๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ซึ่งเป็นปริมาณที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย สุขภาพ และอนามัย จำนวนไม่น้อยกว่า ๒๗๘ ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ได้รับผลกระทบเจ็บป่วยเป็นโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก แสบคอ เยื่อบุคอแดง เยื่อบุตาแดง และเยื่อบุจมูกแดง กระทบต่อสุขภาพ อนามัย เสื่อมสมรรถภาพ และสภาพจิตใจ

ดังนั้น การกำหนดค่าเสียหายจึงควรพิจารณากำหนดรวมเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามพฤติการณ์และความร้ายแรงจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีตามจำนวนครั้งที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีได้ปล่อยทิ้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จนทำให้มีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า ๗๘๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาตรฐานที่ควรเป็น และเกินกว่า ๑,๓๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนดไว้ สำหรับจำนวนค่าเสียหายที่จะนำมาเป็นฐานเพื่อพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายนั้น ตามรายงานของคณะอนุกรรมการฯ

วินิจฉัยว่ายื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามจำนวนที่ตนมีสิทธิได้รับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

  

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑