Guest Relation

NEWS

Published on กุมภาพันธ์ 28th, 2014 | by Divali

0

วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 (ASEAN Vision 2020)

วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 (ASEAN Vision 2020)

วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 หรือ The ASEAN Vision 2020 นั้นอาจกล่าวได้ว่าเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) เกิดขึ้นระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นวาระการครบรอบ 30 ปีของการจัดตั้งอาเซียน โดยในที่ประชุมได้มีมติร่วมกันและมีวิสัยทัศน์ในการให้อาเซียนเป็นวงสมานฉันท์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก อยู่ร่วมกันอย่างสันติมั่นคง รุ่งเรือง รวมถึงเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาอย่างมีพลวัตและเป็นชุมชนแห่งสังคมที่เอื้ออาทร

นอกจากนี้ วิสัยทัศน์อาเซียนยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยให้ประชากรสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต การฝึกอบรม นวัตกรรม การส่งเสริมการป้องกันคุณภาพการทำงานและการประกอบการ รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิจัย การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย

สำหรับบทบาทของประเทศไทยคือการเป็นผู้ริเริ่มให้ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนรับรองเอกสารวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 ซึ่งได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายของการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

โดยประเด็นสำคัญที่ไทยมีส่วนในการผลักดันจนเกิดเป็นรูปธรรม ได้แก่ การบรรจุแนวความคิดที่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาเป็นสังคมที่เปิดกว้างและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ซึ่งต่อมาอาเซียนได้จัดทำแผนปฏิบัติการ

สำหรับวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 (Hanoi Plan of Action to Implement the ASEAN Vision 2020) ขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 6 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนธันวาคม 2541

การจัดทำแผนปฏิบัติการฮานอย นับว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญยิ่งอีกก้าวหนึ่งของอาเซียน ซึ่งแผนการฉบับนี้จะนำเป้าหมายต่าง ๆ ภายใต้วิสัยทัศน์อาเซียนค.ศ. 2020 ไปดำเนินการเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจนและมีการประเมินผลทุกๆ 3 ปี

โดยได้มีการกำหนดกิจกรรมและโครงการที่จะนำไปสู่เป้าหมายในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความร่วมมือเฉพาะด้าน ซึ่งต่อมาอาเซียนได้จัดทำแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ซึ่งเป็นแผนงานต่อเนื่องจากแผนปฏิบัติการฮานอยที่หมดวาระลงไป

และต่อมาในปี 2550 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจึงได้ร่วมลงนามในปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้นอีก 5 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2563

■ คอลัมน์ AEC Pedia / ■ ฐกร ภูวสุวรรณ์
■ จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ AEC world ปีที่33 (1) ฉบับที่ 2,887 (33) วันที่ 13 – 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Please follow and like us:
Pin Share

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑

RSS
Follow by Email