Guest Relation

Energy

Published on มกราคม 2nd, 2014 | by Divali

0

พลังงาน…ที่ต้องเลือก

กฟภ.แต่งตัว”เอ็นคอม”เข้าตลาดหลักทรัพย์ ดึง”เอ็กโก”และ”ราชบุรีโฮลดิ้ง”ร่วมถือหุ้น หวังลดการเป็นรัฐวิสาหกิจ สยายปีกลงทุนให้เกิดความคล่องตัว คาดไม่เกิน 3 ปี นำชัย หล่อวัฒนตระกูลนำชัย หล่อวัฒนตระกูลทำกำไรเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนได้ ล่าสุดมีงานผุดโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอยู่ในมือแล้ว 300 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้กฟภ.อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าถือหุ้นในบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งปัจจุบัน กฟภ.ถือหุ้น 100% เนื่องจากต้องการลดความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อความสะดวกต่อการลงทุนในอนาคต เบื้องต้นอยู่ระหว่างศึกษาสัดส่วนการถือหุ้น โดย กฟภ. จะลดสัดส่วนเหลือ 40% ขณะที่เอ็กโกหรือราชบุรี ถือหุ้นอีก 30% จากนั้นก็จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ โดยเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(ไอพีโอ) สัดส่วน 30% ภายในปี 2560 เนื่องจากต้องรอให้บริษัทมีกำไร 3 ปี ตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯก่อน
“สาเหตุที่ต้องการลดสัดส่วนความเป็นรัฐวิสาหกิจของเอ็นคอม เนื่องจากที่ผ่านมาการเข้าไปลงทุนของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจจะมีขั้นตอนยุ่งยาก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป ปัจจุบันเอ็นคอมมีแผนลงทุน 5 ปี (2556-2560) แล้ว 300 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน อาทิ โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนสาเหตุที่ไม่ลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหินขนาดใหญ่นั้น เนื่องจากไม่ต้องการทับซ้อนกับการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน”

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ กฟภ.จะลงทุนผ่านเอ็นคอม ซึ่งกฟภ.จะเป็นที่ปรึกษาให้ ปัจจุบันมีงานที่ลงทุนในต่างประเทศหลายโครงการทั้งใน สปป.ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยโครงการสายส่งไฟฟ้าระยะทาง 200 กิโลเมตร จากเขื่อนน้ำฮำและน้ำงาว ในสปป.ลาว ขนาด 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง ทางสปป.ลาวจะเป็นผู้ลงทุน และให้เอ็นคอมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยโครงการนี้มูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ส่วนโครงการลงทุนสายส่งไฟฟ้าในเมียนมาร์แบ่งเป็นการปรับปรุงระบบไฟฟ้าใน 2 เมือง และการให้บริการในเขตอุตสาหกรรมทวาย ขณะที่ในมาเลเซีย จะเป็นความร่วมมือด้านการฝึกอบรมพนักงาน
นายนำชัยกล่าวอีกว่า สำหรับแผนลงทุน 5 ปี (2556-2560) ของ กฟภ. อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยในปี 2556 ส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า การปรับปรุงระบบ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) และสายส่งเคเบิลใต้ดิน ซึ่งวงเงินดังกล่าวยังไม่รวมโครงการลงทุนในสปป.ลาว และเมียนมาร์เพราะแยกเป็นเงินลงทุนของเอ็นคอม โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 4 แสนล้านบาท และกำไรไว้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามขณะนี้ กฟภ.ยังไม่รับรู้รายได้จากเอ็นคอม เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินงาน แต่หากเอ็นคอมสามารถเดินหน้าตามแผน 5 ปีได้สำเร็จ ก็จะสามารถรับรู้รายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้น

“ส่วนแผนดำเนินงานในปี 2557 กฟภ. เตรียมขยายสำนักงานส่วนหน้า(Front Office) อีก 40 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 24 แห่ง และในปี 2558 จะเพิ่มเป็น 100 แห่ง เนื่องจากต้องการให้บริการที่เข้าถึงประชาชนมากขึ้น รวมทั้งจะเดินหน้าโครงการส่วนส่งเคเบิลใต้ดินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต เพราะจะช่วยด้านทัศนียภาพด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้จะส่งเสริมการใช้หลอด LED เพิ่มขึ้นด้วย”

ขณะที่สถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 2557 คาดว่าจะเติบโต 5% จากปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 7% มาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่การส่งออกและท่องเที่ยวก็ชะลอตัวเช่นกัน ส่วนวิกฤติไฟฟ้าดับในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ กฟภ.คาดการณ์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นอีก และยิ่งแหล่งก๊าซในเมียนมาร์จะหยุดซ่อมในช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 ดังนั้น กฟภ.จึงสั่งซื้อรถโมบายเคลื่อนที่ใช้ดีเซลเป็นเชื้อเพลิงปั่นไฟขนาด 300, 500 และ 800 กิโลวัตต์ เพิ่มอีก 60 เครื่อง จากปัจจุบันมีแล้ว 50 เครื่อง เพื่อกระจายไปยังพื้นที่ครอบคลุมทุกจังหวัด ใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาท ซึ่งหากพื้นที่ใดไฟฟ้าดับสามารถเคลื่อนรถโมบายดังกล่าวเพื่อปั่นไฟทดแทนได้ทันที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,909
วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2556 – 1 มกราคม พ.ศ. 2557

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑