Guest Relation

Energy

Published on ธันวาคม 31st, 2013 | by Divali

0

นโยบายพลังงานปี 56 ไปได้แค่คืบ

ปี 2556 ถือเป็นปีแห่งการทดสอบการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานก็ว่าได้ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่ถือเป็นนโยบายสำคัญต้องเดินหน้าฝ่าด่านให้ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง alt ส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน รวมถึงการเปิดรับกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558

กลุ่มรายได้น้อยเข้าไม่ถึงแอลพีจีราคาเดิม
สิ่งหนึ่งที่เห็นความพยายามของภาครัฐในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในปีนี้ จะเป็นเรื่องของการปรับราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีภาคครัวเรือนขึ้นไปให้อยู่ในระดับ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่เคยถูกตรึงไว้ที่ระดับ 18.13 บาทต่อกิโลกรัมหรือปรับเพิ่มขึ้น 6.69 บาทต่อกิโลกรัม โดยเป็นการทยอยปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม นับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา จนมาถึงสิ้นปีได้มีการปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 2 บาทต่อกิโลกรัม
แต่การดำเนินงานหาใช่มีอุปสรรคไม่ เมื่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ภาครัฐได้เข้ามาอุดหนุนให้ใช้แอลพีจีราคาเดิม เพื่อไม่ให้มีภาระต่อค่าครองชีพ แต่กลับมีปัญหาไม่เข้าร่วมใช้สิทธิ์เท่าที่ควรจากที่มีการประเมินไว้ แบ่งเป็นครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน จำนวน 7.4 ล้านครัวเรือน และครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ 1.86 แสนครัวเรือน ส่วนกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร 1.68 แสนร้าน กลับพบว่ากลุ่มครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนเข้ามาใช้สิทธิ์เพียง 4.875 หมื่นราย และร้านค้า หาบเร่ แผงลอย 5.925 รายเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่ามีความยุ่งยากในการขอใช้สิทธิ์ จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมายังมีเสียงคัดคานการปรับขึ้นราคาแอลพีจีจากบางกลุ่มอยู่

ปรับราคาเอ็นจีวีเข็นไม่ขึ้น
นอกจากนี้ ในการปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีสำหรับรถยนต์ขึ้นไปต้องสะดุดลงอีก หลังจากที่ผ่านมาได้มีการปรับขึ้นมา 2 บาทต่อกิโลกรัมแล้วก็ตาม จนมาอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม แม้จะมีเสียงกดดันจากทางบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้ขยับราคาขึ้นไปก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ผล จนมีการหยิบยกข้อถกเถียงถึงโครงสร้างราคาที่แท้จริงของก๊าซเอ็นจีวีว่าอยู่ในระดับใดกันแน่ ให้ทางสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาต้นทุนที่แท้จริงออกมาอยู่ที่ประมาณ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน
โดยเฉพาะกลุ่มสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เห็นว่า หากจะมีการปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีขึ้นไป ทางกระทรวงพลังงานจะต้องดำเนินงานใน 3 แนวทางก่อน ได้แก่ 1. การเพิ่มสถานีบริการหรือแก้ปัญหาไม่ให้เกิดการขาดแคลน เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มรถบรรทุกที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดยังต้องเข้าคิวรอก๊าซเอ็นจีวีเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง ทำให้เสียเวลาในการขนส่งสินค้าหรือการเสียโอกาส 2. คุณภาพของก๊าซเอ็นจีวีจะต้องไม่มีส่วนผสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยให้มีเนื้อก๊าซเพิ่มขึ้นลดต้นทุนการเติมก๊าซได้อีกทางหนึ่ง และ 3. จะต้องเปิดเสรีการค้าก๊าซเอ็นจีวีให้อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงานไม่ใช่ภายใต้การดำเนินงานของบมจ.ปตท.ที่ขณะนี้เป็นผู้อนุมัติในการขายเอ็นจีวีอยู่
จนถึงทุกวันนี้ กระทรวงพลังงานหรือบมจ.ปตท.ก็ยังไม่สามารถดำเนินการตามที่มีการเรียกร้องออกมาได้ จึงทำให้การปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกลัวจะถูกต่อต้าน ทั้งที่ การปรับราคาเอ็นจีวีกับการปรับราคาแอลพีจีจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป
ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ บมจ.ปตท.จะต้องแบกรับภาระดังกล่าวต่อไป โดยในปีนี้จะมียอดขาดทุนอยู่ที่ 2 หมื่นล้าน รวมยอดขาดทุนสะสมก่อนหน้านี้อีก 7-8 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการใช้ก๊าซเอ็นจีวีอยู่ประมาณ 8.5 พันตันต่อวัน

ยกเลิกตรึงราคาดีเซลไม่สำเร็จ

ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานมีความพยายามที่จะยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันดีเซล จากที่ตรึงไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลกลับขึ้นไปสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และต้องการลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเงินมาอุดหนุน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 เป็นต้นมา ทำให้ภาครัฐสูญเสียเงินไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท จากการนำเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุน และการปรับลดภาษีสรรพสามิตจากเดิมที่จัดเก็บอยู่ 5.31 บาทต่อลิตร ปรับลดเหลือเพียง 0.005 บาทต่อลิตร และหากไม่มีการปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปจะส่งผลให้ภาครัฐต้องสูญเงินจากการอุดหนุนราคาน้ำมันมากขึ้น เพราะนับวันยอดใช้ดีเซลยังคงเพิ่มสูงต่อเนื่อง มาจากราคาที่ต่ำกว่ากลุ่มเบนซินอย่างมาก ทำให้รถยนต์หันมาใช้ดีเซลเพิ่มขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 57 ล้านลิตรต่อวัน เทียบกับปี 2555 เฉลี่ยอยู่ที่ 55 ล้านลิตรต่อวัน
แต่การผลักดันของกระทรวงพลังงานในการยกเลิกเพดานราคาน้ำมันดีเซล กลับถูกรัฐบาลปฏิเสธ เพราะมัวแต่ห่วงว่าจะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าขยับขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงส่งผลให้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันต้องควักเงินออกไปชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 70 สตางค์ต่อลิตร หรือคิดเป็น 33 ล้านบาทต่อวัน ประกอบกับต้องชดเชยราคาแอลพีจีที่เพิ่งสูงขึ้น ปัจจุบัน 5 พันล้านบาทต่อเดือน ทำให้ภาระกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 165 ล้านบาทต่อวัน โดยปัจจุบันกองทุนมีฐานะเพียง 1.7 พันล้านบาท หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีการเซ็นสัญญากู้แล้วในวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท มาอุดหนุนเพิ่มเติม

ติดตั้งโซลาร์รูฟฯ เคว้ง
นอกจากนี้ ยังพบว่านโยบายการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย และบนอาคารธุรกิจหรือโซลาร์รูฟท็อป รวมกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ จากเดิมจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนมกราคม 2557 ต้องสะดุดลงไม่เป็นท่า เมื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมออกมาระบุว่า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่มีขนาด 3.7 กิโลวัตต์ขึ้นไป เข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ 3 ตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ที่ห้ามตั้งโรงงานทุกประเภทในบริเวณบ้านจัดสรรเพื่อการอาศัย อาคารชุดพักอาศัย และบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย การจะดำเนินการได้จะต้องได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการหรือรง.4 ก่อน หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
แม้ทางกระทรวงพลังงานจะพยายามขอให้กรมโรงงานฯ แก้ไข กฎระเบียบใหม่ โดยไปแก้ไขกฎกระทรวงให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป กำลังผลิตไม่เกิน 20 กิโลวัตต์ จัดเป็นโรงงานประเภทที่ 2 ไม่ต้องขอรง.4 กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และแก้ไขกฎกระทรวงที่ห้ามโรงงานทุกประเภทในบริเวณบ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย อาคารชุดพักอาศัย บ้านแถวเพื่อการอาศัย และสถานที่ตั้งต้องอยู่ห่างจากเขตติดต่อสาธารณสถาน เช่น โรงเรียนหรือสถานบันการศึกษา วัดหรือศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการของหน่วยงานรัฐ ไม่น้อยกว่า 50 เมตร
รวมถึงการแก้ไขกฎหมายผังเมือง เพื่อขอผ่อนผันให้สามารถตั้งอยู่ในเขตชุมชนได้ ซึ่งจะต้องไปเจรจากับกรมโยธาธิการและผังเมือง เสนอเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ก่อมลพิษ และนำเสนอรัฐบาลพิจารณา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะมีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน การแก้ไขกฎกระทรวงจึงไม่สามารถดำเนินการได้
ผลที่ตามมาทำให้บ้านพักอาศัยที่เข้ามายื่นขอติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ประมาณ 6.040 พันราย คิดเป็นกำลังผลิต 52.29 เมกะวัตต์ และมีอาคารธุรกิจ จำนวน 201 ราย กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 9.137 พันล้านบาท ต้องรอการติดตั้งไปก่อน

ดันโรงไฟฟ้าถ่านหินไปไม่ถึงไหน
สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในช่วงปีนี้ ยังมีความล่าช้าสำหรับการผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้ากว่า 70 % จนหลายฝ่ายยังคงกังวลว่าไทยจะสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดแห่งใหม่ได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าการปล่อยให้เอกชนลงทุนเอง ก็ย่อมถูกต่อต้านจนโครงการล้มเลิกไป แต่หากภาครัฐเป็นผู้กำหนดพื้นที่หรือโซนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ก็จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้มากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,909
วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2556 – 1 มกราคม พ.ศ. 2557

Please follow and like us:
Pin Share

Tags: ,


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑

RSS
Follow by Email