จ่อทุบโรงไฟฟ้าเอ็กโกแผนพีดีพีให้นำออกจากระบบ
กระทรวงพลังงาน จ่อปลดโรงไฟฟ้าระยอง แผนพีดีพีฉบับใหม่ระบุให้นำออกจากระบบ ชี้ประสิทธิภาพต่ำสู้โรงไฟฟ้าใหม่ไม่ได้ ขณะที่เอ็กโกดิ้นขอต่อสัญญาลงทุนอีก 500 ล้านบาท ปรับปรุงเครื่องจักรจี้”พงษ์ศักดิ์”ชี้ขาดอย่างช้าไม่เกินต้นปีหน้า ด้านรมว.พลังงาน แย้มอาจมีข่าวดีต่อให้อีก 5 ปี หลังจากนั้นพิจารณาสร้างใหม่ แต่ต้องดูมีก๊าซป้อนให้หรือไม่
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน)หรือเอ็กโกได้ยื่นเรื่องขอต่ออายุโรงไฟฟ้าระยอง ขนาดกำลังการผลิต 1.23 พันเมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2557 กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะคู่สัญญาและกับทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะผู้พิจารณาการต่อสัญญานั้น โดยเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะไม่มีการต่ออายุให้กับโรงไฟฟ้าระยองอีก
-ไม่บรรจุอยู่ในแผนพีดีพี
เนื่องจากในการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในช่วงต้นปีหน้านั้น ได้บรรจุการปลดโรงไฟฟ้าระยองออกจากแผนไว้แล้ว หรือไม่มีการต่อสัญญาอีก เนื่องจากเห็นว่าเป็นโรงไฟฟ้าเก่าประสิทธิภาพการผลิตสู้โรงไฟฟ้าใหม่ไม่ได้ แม้จะมีการปรับปรุงก็ตาม ซึ่งหากเทียบปริมาณการใช้ก๊าซ 1 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย จะใช้ก๊าซมากกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าใหม่ ในขณะที่ก๊าซในอ่าวไทยมีปริมาณจำกัด จึงควรจะสงวนไว้ใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ก๊าซน้อยกว่าแต่ผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยที่เท่ากัน ซึ่งที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าแห่งนี้ทางกฟผ.ก็ไม่ได้สั่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามากนัก เนื่องจากค่าไฟฟ้าแพงกว่าโรงไฟฟ้าอื่น โรงไฟฟ้าแห่งนี้จึงมีไว้เป็นกำลังผลิตสำรองเท่านั้น
ขณะเดียวกันการผลิตไฟฟ้าของภาคตะวันออกยังมีปริมาณสำรองเหลืออีกมาก โดยมีกำลังผลิตถึง 1.073 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้มีประมาณ 9 พันเมกะวัตต์ ประกอบกับในแต่ละปีจะมีกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าเอสพีพีที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้อีก และโรงไฟฟ้าถ่านหินเอ็คโค่-วัน กำลังผลิต 660 เมกะวัตต์ ก็เพิ่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ จึงไม่น่าห่วงเรื่องความมั่นคงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การจะต่ออายุโรงไฟฟ้าระยองให้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของผู้บริหารกระทรวงพลังงานและกกพ. ซึ่งหากไม่ต่อให้ ก็ต้องมีแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรโดยเฉพาะการให้สิทธิ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่บนพื้นที่เดิม เนื่องจากเป็นทำเลที่มีศักยภาพพร้อมทุกอย่าง ซึ่งคงต้องมีการหารือกันต่อไป
-กกพ.ชี้สร้างใหม่ดีกว่า
สอดคล้องกับนายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่าคณะกรรมการอยู่ระหว่างการพิจารณาต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าระยองของเอ็กโก ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนพีดีพี 2013 คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จะมีประโยชน์มากกว่า เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นและสามารถลดต้นทุนการใช้ก๊าซลงได้ เพราะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่า
เอ็กโกดิ้นขอต่ออีก5ปี
ขณะที่นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เอ็กโกได้ส่งหนังสือไปยังกฟผ.ในฐานะคู่สัญญา เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีขอต่อสัญญาโรงไฟฟ้าระยอง ออกไปอีก 5 ปี หลังจากสัญญาเดิมจะหมดอายุลงในปี 2557 เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมาว่ากฟผ.จะต่อสัญญาหรือไม่ เพราะเหลือระยะเวลาอีกเพียงปีเดียว ที่เอ็กโกจะต้องวางแผนในการปรับปรุงโรงไฟฟ้าซึ่งต้องกินระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปี ก่อนที่ระบบจะกลับมาเดินเครื่องได้ทันในปี 2558
สร้างใหม่หวั่นกระแสต้าน
ทั้งนี้ การที่เอ็กโกต้องขอต่อสัญญาโรงไฟฟ้าระยองออกไปอีก เนื่องจากเห็นว่าประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้ายังดีอยู่ โดยจะใช้ลงทุนปรับปรุงระบบเพียง 400-500 ล้านบาท เพื่อใช้การซ่อมแซมเครื่องจักร เหมือนกับการปิดซ่อมโรงงานเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงโดยไม่จำเป็นต้องไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความวุ่นวายในการต่อต้านขึ้นมาอีก แต่หากกฟผ.หรือกระทรวงพลังงานไม่ต่ออายุให้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะโรงไฟฟ้าระยองมีอายุเพียง 20 ปี หากมีการปรับปรุงเครื่องจักรเล็กน้อยก็สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อีกอย่างน้อย 5-6 ปี
แต่หากไม่ต่ออายุให้ก็จำเป็นต้องขายโรงไฟฟ้าให้กับประเทศที่ 3 ต่อไป และต้องรอการอนุญาตจากกระทรวงพลังงานให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าระยองใหม่ ที่จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ขนาดกำลังการผลิต 1.8 พันเมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 5 ปี ถึงจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ เพราะจะต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) 1-2 ปี และใช้เวลาก่อสร้างอีก 3 ปี โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่คาดว่าจะใช้ก๊าซไม่เกิน 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ช่วยให้การใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งการขอต่ออายุโรงไฟฟ้าครั้งนี้ คาดว่าน่าจะได้รับคำตอบอย่างช้าไม่เกินไตรมาสแรกปีหน้า เพราะหากพ้นจากนี้ไปแล้วจะทำให้การเตรียมงานไม่ทัน
โดยที่ผ่านมาเอ็กโกเคยเสนอประมูลโรงไฟฟ้าภาคเอกชนขนาดใหญ่(ไอพีพี) แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก ทั้งที่ เสนอราคาซื้อขายไฟฟ้าต่ำสุดเพียง 4.1275 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากกระทรวงพลังงานไม่ให้สิทธิ์เอ็กโกก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีก ก็ถือว่าเป็นที่น่าเสียดาย เพราะมีระบบสาธารณูปโภคพร้อมทุกด้าน จึงทำให้ค่าไฟฟ้าที่เสนอไอพีพีออกมาต่ำได้เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การต่อสัญญาโรงไฟฟ้าระยอง อยู่ระหว่างการพิจารณาของกกพ. ว่าจะให้ต่อสัญญาออกไปหรือสร้างโรงไฟฟ้าใหม่หรือไม่ โดยทางเอ็กโกได้เร่งรัดให้ทางกระทรวงพลังงานตัดสิน แต่กระทรวงก็ต้องขอความเห็นชอบจากกฟผ.ในฐานะคู่สัญญาว่าจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งยอมรับว่าการพิจารณาจะต่อสัญญาหรือไม่นั้น ล่าช้ามาระยะหนึ่ง เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ เรื่องดังกล่าวจึงค้างการพิจารณาอยู่
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่าควรให้เอ็กโกต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าระยองไปอีก 5 ปี โดยมองว่าหากมีการปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าน่าจะดีขึ้นจากเดิม และไม่ต้องเสียเวลาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และเมื่อหมดอายุสัญญาในปี 2562 ถึงจะมาพิจารณาให้สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดิม แต่ในระหว่างนี้ทางเอ็กโกจะต้องแสดงแหล่งพลังงานและราคาพลังงานก่อนว่าจะนำมาจากที่ใด เนื่องจากปัจจุบันท่อส่งก๊าซธรรมชาติก็เริ่มเต็มแล้ว ซึ่งอาจไม่สามารถสร้างใหม่ได้ หากไม่มีก๊าซมาป้อน แต่หากมีความชัดเจนแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาภาพร่วมอีกครั้งว่าจะให้สิทธิ์เอ็กโกก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้หรือไม่
ส่วนความคืบหน้าการจัดทำแผนพีดีพีใหม่นั้น คาดว่าปลายเดือนพฤศจิกายนนี้จะแล้วเสร็จ และสามารถเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยในแผนดังกล่าวจะลดปริมาณการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าลงเหลือ 35-40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 70% ซึ่งจะพิจารณาลดในส่วนของโรงไฟฟ้าก๊าซที่จะหมดอายุสัญญา จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 1.3 หมื่นเมกะวัตต์ ให้คงเหลือเพียงครึ่งเดียว หรือเหลือเพียง 6.5 พันเมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนอีก 6.5 พันเมกะวัตต์ จะเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นแทน อาทิ ถ่านหิน น้ำ และรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันในแผนพีดีพี 2013 จะเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเป็น 30-35%
สำหรับโรงไฟฟ้าระยอง ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2537 มีกำลังการผลิต 1.232 พันเมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วยเครื่อง 4 ยูนิต ยูนิตละ 308 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาทโดยก่อนหน้านี้ทางเอ็กโกเคยได้สิทธิ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ทดแทนโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 โดยไม่ต้องผ่านการประมูลไอพีพีไปแล้ว เนื่องจากทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นว่า ระบบสาธารณูปโภคมีความพร้อม ขณะที่การหาพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีอย่างจำกัด
อนึ่งการปลดโรงไฟฟ้าระยอง ถือว่าไม่ใช่เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ถูกปลดออกจากระบบ โดยก่อนหน้านี้มีโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ของกฟผ. ได้ปลดระวางไปแล้ว และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ในสถานที่เดิมเมื่อปี 2549 ด้วยวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท เปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2553 พร้อมกับอนุมัติให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2561 เป็นต้นไป
ขือมูล :จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,899 วันที่ 24 – 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556