Guest Relation

Local news

Published on กันยายน 13th, 2014 | by Divali

0

จังหวัดกระบี่ ได้ดำเนินการจัดทำการประเมินผลผังเมืองรวมเมืองกระบี่

สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกระบี่ เชิญองค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วยหอการค้าจังหวัดกระบี่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกระบี่ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตผังเมืองรวมเมืองกระบี่ ประกอบด้วยเทศบาลเมืองกระบี่ องค์การบริหารส่วนตำบลไสไทย องค์การบริหารส่วนตำบลทับปริก และเทศบาลตำบลกระบี่น้อย ร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็นในการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองกระบี่ ครั้งที่ ๓ โดยมีนางสาวอัญชลี ตันวานิช โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกระบี่ เป็นประธาน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมอ่าวลึก ศาลากลางจังหวัดกระบี่ (หลังใหม่) สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกระบี่ ได้ดำเนินการจัดทำการประเมินผลผังเมืองรวมเมืองกระบี่ ซึ่งจะหมดอายุใช้บังคับวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ และจะดำเนินการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองกระบี่ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ตอบสนองกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และรักษาสภาพแวดล้อมของจังหวัดกระบี่ได้อย่างเหมาะสม สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกระบี่ จึงได้จัดประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงผังเมืองรวมจากภาคส่วนต่าง ๆ

นางสาวอัญชลี ตันวานิช โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกระบี่ กล่าวว่าเขตพื้นที่วางผังเมืองรวมซึ่งออกบังคับใช้กฎกระทรวง ครอบคลุมพื้นที่ใดบ้าง โดยอาจยึดจาก เขตการปกครอง เขตป่าสงวนแห่งชาติ ระยะขนานจากแนวถนน ระยะจากกึ่งกลาง/ริม คลอง/แม่น้ำ ระยะตั้งฉากกับจุดตัดถนน ขอบเขตของผัง

ด้านเหนือ เป็นเส้นตั้งฉากกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) เป็นระยะ ๑,๕๐๐ เมตร และเส้นขนานระยะ ๑,๐๐๐ เมตร กับเขตเทศบาลเมืองกระบี่

ด้านตะวันออก เป็นเส้นตรงต่อจากเขตเทศบาลเมืองกระบี่ และเป็นเส้นเลียบตามแนวเขตทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) เป็นระยะ ๑,๕๐๐ เมตร และเส้นขนานระยะ ๑,๐๐๐ เมตรกับเขตเทศบาลเมืองกระบี่ และเป็นเส้นเลียบตามแนวเขตเทศบาลเมืองกระบี่

ด้านใต้ เป็นเส้นเลียบตามแนวเขตเทศบาลเมืองกระบี่ จากหลักเขตที่ ๖ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตามแนวชายฝั่ง ไปยังจุดที่แนวเขตป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. ตัดกับคลองจิหลาดฝั่งตะวันออก

ด้านตะวันตก เป็นเส้นเลียบถนนท่าเรือ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปยังจุดที่ถนนตัดกับแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลอง จิหลาด และเส้นขนานระยะ ๑,๕๐๐ เมตร กับศูนย์กลางถนนวัชระ และเส้นขนานระยะ ๑,๕๐๐ เมตร กับศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม)

สาระสำคัญของการวางผัง
๑. ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเมืองให้เป็นศูนย์กลางบริหาร การปกครอง พาณิชยกรรมและการบริการแก่พื้นที่โดยรอบ
๒. ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนและระบบเศรษฐกิจของภาคใต้
๓. ส่งเสริมและพัฒนาการบริการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
๔. ส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยว ปรับปรุงสภาพแวดล้อม และพัฒนากิจกรรมบริการให้เพียงพอ
๕. อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สรุปสาระสำคัญ กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองกระบี่ พ.ศ. ๒๕๕๔
ระยะเวลาการบังคับใช้ : ๕ ปี ( ๒๓ ธ.ค. ๕๔ – ๒๒ ธ.ค. ๕๙)

จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ๑๑ ประเภท
ข้อกำหนด : กำหนดประเภทการใช้ ประโยชน์ที่ดิน กิจกรรมหลักและกิจกรรมรอง
การใช้ประโยช์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นๆ
ตามที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ ในผังเมืองรวมเมืองกระบี่ จำนวน ๖ บริเวณ
๑. ประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง)
๒. ประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม)
๓. ประเภทพาณิชยกรรมและอยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง)
๔. ประเภทพาณิชยกรรมและสถานบริการ
(สีแดงและเส้นทแยงสีขาว)
๕. ประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ (สีม่วงอ่อน)
๖. ประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว

ที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางโดยเห็นว่าผังเมืองรวมฯโด้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ รวมระยะเวลา ๒๗ ปี มีการปรับปรุง ๒ ครั้ง อย่างบริเวณ ถนนวัชระที่กำหนดให้เป็นสีเขียวข้างละ ๑๐๐ เมตร ซึ่งน่าจะเป็นสีเหลือง และแม้ว่จะมีการเสนอขอให้มีการเปลี่ยนสี แต่ก็ไม่ได้รับข้อเสนอของท้องถิ่นทำให้เสียโอกาสที่จะพัฒนาเมืองในบริเวณนี้ไป ในการปรับปรุงผังเมืองรวมครั้งที่ ๓ นี้ขอให้คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพราะกระบี่มีความเจริญเติบโตปีละ ๗-๘ เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องปรับให้รองรับกับการใช้งานได้อย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากจะคำนึงถึงจำนวนประชากร และประชากรแฝงแล้วจะต้องเอาจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาพิจารณาด้วย ไม่ใช่ทำเพื่อให้มีประกาศใช้แล้วค่อยไปให้คัดค้านในภายหลังก็ไม่น่าจะถูกต้อง นอกจากนี้การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่กำหนดในกิจกรรมหลัก กิจกรรมรองที่ได้ระบุให้ใช้พื้นที่ได้ร้อยละ ๑๕ หรือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของที่ดินประเภทต่างๆแต่ละบริเวณซึ่งก็คือกำหนดเป็นบล๊อกๆ หากมีคนสร้างไปก่อนจนหมดพื้นที่ที่กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ไว้ คนที่จะสร้างภายหลังที่มีที่ดินแปลงเล็กๆหรือที่ดินห้องก็ไม่สามารถสร้างได้เนื่องจากหมดพื้นที่ไปแล้ว นอกจากนี่ที่ประชุมยังมีแนวคิดว่าน่าจะมีการกำหนดไว้ในผังเมืองรวมในเรื่องของความสูงของอาคารว่าไม่ควรสูงเกิน ๒๓ เมตร และการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองกระบี่ ต้องสอดรับกับความเจริญเติบโตของเมืองกระบี่ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถ่วงความเจริญของเมือง และทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ การกำหนดสี่ในเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ไม่ใช่เป็นเหตุให้เมืองกระจุกตัว โดยนางสาวอัญชลี ตันวานิช โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกระบี่ เปิดให้หน่วยงานที่มีส่วนได้เสียที่เข้าประชุมในครั้งนี้สามารถให้ข้อมูลข้อเสนอแนะความคิดเห็นไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกระบี่ได้

ภาพและข่าว  :  ไพฑูรย์ ล่องเพ็ง

Please follow and like us:
Pin Share

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑

RSS
Follow by Email