Guest Relation

Energy

Published on กรกฎาคม 21st, 2015 | by Divali

0

กรณีโรงไฟฟ้ากระบี่ มาเลย์พิสูจน์แล้ว ไร้ผลเสียต่อสุขภาพ ดร.โสภณ พรโชคชัย

กรณีโรงไฟฟ้ากระบี่ มาเลย์พิสูจน์แล้ว ไร้ผลเสียต่อสุขภาพ
ดร.โสภณ พรโชคชัย

ตามที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจากจังหวัดในแถบทะเลอันดามันได้เดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล และยื่นข้อเรียกร้องอีกครั้งนั้น ถือเป็นการใช้กฎหมู่และบิดเบือนให้ข้อมูลด้านเดียวหรือไม่ นายกรัฐมนตรีไม่พึงฟังเสียงกฎหมู่ ในมาเลเซียมีผลการศึกษาออกมาแล้วว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้มีผลต่อสุขภาพของประชาชน

เครือข่ายได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อคือ 1.ให้รัฐบาลหยุดกระบวนการรายงานการทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2.เสนอให้เลื่อนการประมูลที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม ออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด และ3.ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ (http://goo.gl/luvGCh) ต่อประเด็นนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย เห็นต่าง และเห็นว่าควรสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

การให้หยุดกระบวนการรายงานการทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม เท่ากับเป็นการใช้กฎหมู่อย่างร้ายแรง การศึกษาจะเป็นการนำไปสู่ทางออก และคงเป็นไปได้ว่าการศึกษานี้ มีแนวโน้มที่จะมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่มีผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคม เครือข่ายฯ ที่คิดว่าตนเสียผลประโยชน์จึงเรียกร้องไม่ให้ทำการศึกษา ถือเป็นการปิดหูปิดตาสังคมไม่ให้ทราบความจริง ให้ฟังแต่ฝ่ายตนฝ่ายเดียวหรือไม่ และอันที่จริงเครือข่ายฯ ไม่พึงเป็นห่วงเพราะแม้มีการศึกษาแล้ว แต่ก็ต้องผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก่อนที่จะมีผลในทางปฏิบัติ เครือข่ายฯ จึงไม่ควร “ตีตนไปก่อนไข้”

ที่บอกว่ามีงานของเกาะลันตาจังหวัดกระบี่ พบว่านักท่องเที่ยวร้อยละ 87 จะไม่กลับมาเที่ยวจังหวัดกระบี่อีกเลย ซึ่งเป็นการสำรวจจากนักท่องเที่ยว 37 ประเทศ จำนวน 624 คน ถือเป็นการสำรวจที่ไร้หลักการ เพราะยังไม่มีใครเคยเห็นว่าโรงไฟฟ้านี้มีผลเสียอย่างไรหรือไม่ ทำไมในมาเลเซียหรือประเทศอื่น ๆ เขาไม่กลัว เพราะความจริงแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ก่อมลภาวะนั่นเอง

การที่เครือข่ายฯ เสนอให้ใช้น้ำมันปาล์มหรืออื่นใด มาผลิตไฟฟ้าแทนถ่านหิน ก็ไม่ได้นำเสนอว่าการใช้แหล่งวัตถุดิบอื่นจะถูกกว่า คุ้มค่ากว่าหรือไม่ ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าจริงหรือไม่ ดังนั้นในแง่หนึ่งจึงเท่ากับเป็นการเสนอเพียงเพื่อแก้เกี้ยวไม่ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น ถือเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียว ทำให้ประชาชนสับสน ไม่ได้ให้ความกระจ่างหรือปลูกปัญญาแก่ประชาชน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกลัวการเสียผลประโยชน์บางประการก็เป็นได้

ในกรณีที่เกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ก็คือการมีกองทุนหรือการซื้อประกันเพื่อชดเชยให้กับประชาชน หากสามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเสียชีวิต เสียทรัพย์ ป่วย หรือพิการเพราะการมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยอาจประกันในวงเงินสูงเช่นเดียวกับค่าชดเชยในกรณีเหตุความไม่สงบต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้

ยิ่งกว่านั้น หากทางราชการสามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ หรือโรงไฟฟ้าขยะชีวมวล หรืออื่นใด เป็นประโยชน์และไม่เป็นพิษภัยต่อประชาชน ก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับความเป็นจริงตามหลักสากล จะ “ดื้อแพ่ง” หรือ “ยืนกระต่ายขาเดียว” ไม่ยินยอมตามผลการศึกษา หรือในทางตรงกันข้ามหากเครือข่ายฯ มีข้อมูลที่พิสูจน์ได้ถึงพิษภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ควรนำมาแสดงต่อสังคมให้ชัดเจน ไม่ควรใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายด้วยการเดินขบวนเช่นนี้

สิ่งที่พึงสังวรประการหนึ่งก็คือ สิ่งที่เครือข่ายฯ เรียกร้อง อาจไม่เป็นความจริง ก็ได้ จะสังเกตได้ว่าในประเทศเพื่อนบ้าน ต่างก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินกันทั้งนั้น และก็ไม่เคยได้ข่าวว่ามีผลเสียหายร้ายแรงต่อบุคคล หรือชุมชนแต่อย่างใด ดังนั้นการ “ตีตนไปก่อนไข้” หรือการสร้างความหวาดกลัวโดยไม่มีมูล จึงเป็นการสร้างความสับสนวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองโดยไม่ชอบด้วยเหตุผล

ทุกวันนี้ในประเทศเพื่อนบ้านเราต่างมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น

ไทย 5 โรง
อินเดีย 139 โรง
จีน 80 โรง
ออสเตรเลีย 32 โรง
ญี่ปุ่น 31 โรง
อินโดนีเซีย 19 โรง
ฟิลิปปินส์ 9 โรง
เวียดนาม 8 โรง
มาเลเซีย 7 โรง
จีน ไต้หวัน 7 โรง
จีน ฮ่องกง 2 โรง
ศรีลังกา 1 โรง
เมียนมาร์ 1 โรง

ในประเทศไทย มีอยู่ที่ลำปาง 1 แห่ง และระยองอีก 4 แห่ง จากการสำรวจของ ดร.โสภณ เมื่อเดือนเมษายน 2555 พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particulate Matter หรือ PM10) ไม่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นทั้งในเขตเมืองลำปางและบริเวณรอบ ๆ เหมืองแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ยิ่งกว่านั้นมลพิษหลักในเขตภาคเหนือเกิดจากการเผาป่ามากกว่าอย่างอื่น กรณีนี้ก็ควรนำเสนอเพื่อให้สังคมโดยรวมเข้าใจว่า กิจการไฟฟ้านี้มีคุณต่อประเทศชาติและไม่ได้เป็นตัวการหลักในการสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้เคียงเหมือง ยังมีเขตที่อยู่อาศัยถาวรของเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้อยู่อาศัยอีกด้วย (http://goo.gl/6H4TXf)

มีข้อน่าสังเกตว่า ในกรณีประเทศมาเลเซีย ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 7 แห่ง โรงขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่แหลมมาลายู ทางตอนใต้ของไทย ดังนี้:

Tanjung Bin Coal Power Plant Malaysia Johor 2,100mwe
Jimah Coal Power Plant Malaysia Negeri Sembilan 1,400mwe
Manjung (TNB Janamanjung) Coal Power Plant Malaysia Perak 3,180mwe
Sejingkat Coal Power Plant Malaysia Sarawak 100mwe
PPLS Coal Power Plant Malaysia Sarawak 110mwe
Mukah Coal Power Plant Malaysia Sarawak 270mwe
Kapar (Sultan Salahuddin Abdul Aziz) Coal Power Plant Selangor 2,420mwe

จะเห็นได้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนตามที่พวกต่อต้านพยายามสร้างความหวาดกลัวเลย ทั้งนี้เป็นผลการศึกษาของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย มหาวิทยาลัยเคบังซาน ร่วมกับนักวิจัยอิสระซึ่งผลการศึกษานี้ได้นำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา (http://goo.gl/BHb6yb)

Please follow and like us:
Pin Share

Tags: ,


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑

RSS
Follow by Email