Guest Relation

NEWS

Published on มกราคม 5th, 2014 | by Divali

0

กฟผ. เตรียมแผนรับมือก๊าซพม่าและแหล่งก๊าซ JDA-A18 ไทย-มาเลเซียหยุดจ่าย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงกรณีก๊าซแหล่งเยตากุนหยุดผลิต ต่อเนื่อง 15 วัน ต้องเดินเครื่องน้ำมันเตาทดแทน 61 ล้านลิตร น้ำมันดีเซล 7 ล้านลิตร มั่นใจไม่กระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า เนื่องจากเป็นฤดูหนาวและอยู่ในเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ

ฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ( Glossary Link IPP) Glossary Link ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) โรงไฟฟ้า กฟผ. ที่เกี่ยวข้องประมาณ 110 คน เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 เพื่อชี้แจงการทำงานในช่วงแหล่งก๊าซฯ สหภาพเมียนมาร์หยุดจ่าย ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ถึง 8 มกราคม 2557

นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 70 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยแบ่งเป็นสัดส่วนจากแหล่งก๊าซอ่าวไทยร้อยละ 60 จากแหล่งก๊าซสหภาพเมียนมาร์ร้อยละ 40 ปัจจุบันรับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสหภาพเมียนมาร์วันละ 1,030 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 6,000 Glossary Link เมกะวัตต์ ซึ่งทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งให้ กฟผ. ทราบว่าจะมีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุน สหภาพเมียนมาร์ เพื่อติดตั้ง Wellhead ใหม่ พร้อมกับการวางท่อส่งก๊าซฯ ขนาด 10 นิ้ว ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตรจาก Wellhead ใหม่ ไปยัง Platform ปัจจุบัน และงาน Host tie in ในระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2556 – วันที่ 8 มกราคม 2557

การหยุดจ่ายก๊าซในช่วงดังกล่าว เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำเนื่องจากเป็นฤดูหนาวและอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 22,500 Glossary Link เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตสำรองต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 5,600 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและมีคุณภาพไฟฟ้าตามมาตรฐาน ต่างจากการหยุดทำงานของแหล่งก๊าซฯ ยาดานา เมื่อเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา เนื่องจากในตอนนั้นเป็นช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของปี

“สำหรับมาตรการรองรับเหตุการณ์ดังกล่าวในด้านระบบผลิต กฟผ. ได้เตรียมเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตา 61 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซล 7 ล้านลิตร ด้านระบบส่งได้เตรียมความพร้อมในส่วนระบบส่งของ กฟผ. และได้มีการประสานงานกับ กฟภ. และ กฟน. เพื่อช่วยจัดการระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและคุณภาพไฟฟ้าตามมาตรฐาน และหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ได้ประสานงาน กฟภ. และ กฟน. เตรียมแผนย้ายโหลดเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นการช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวมลงได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปได้อีกทางหนึ่ง” นายจรรยง กล่าว

นอกจากการเตรียมแผนรับมือก๊าซพม่าหยุดจ่าย กฟผ. ได้เตรียมพร้อม 7 มาตรการรองรับกรณี ปตท. หยุดจ่ายก๊าซแหล่ง JDA-A18 ช่วงกลางปีหน้า 13 มิ.ย. – 10 ก.ค. 2557 โดยเน้นย้ำนำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์ และเตรียมความพร้อมระบบส่งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

สายงานระบบส่ง กฟผ. จัดประชุมเตรียมความพร้อมรองรับกรณีแหล่งก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย JDA-A18 หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ โดยมีนายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. พร้อมด้วย นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. นายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการบำรุงรักษาระบบส่ง กฟผ. นายพีระพล ทองอยู่ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการระบบส่ง กฟผ. ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง กล่าวว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งให้ กฟผ. ทราบถึงแผนการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ JDA-A18 (Total Shutdown) ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2557 เพื่อติดตั้งแท่นสำหรับ Booster Compressor ซึ่งใช้ระยะเวลาถึง 28 วันส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะ กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ต้องหยุดเดินเครื่อง และอาจส่งผลกระทบกับระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. หากเกิดเหตุการณ์ หม้อแปลง Tie 500/230 kV ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบางสะพาน 2 Trip ทำให้สายส่ง 115 kV เพชรบุรี-ชะอำ และสายส่ง 230 kV ราชบุรี2-หัวหิน จ่าย Overload เป็นปริมาณมากจนอาจเกิดการ Trip ตามมา (Cascade Trip) และเกิดสภาพแรงดันไฟฟ้าต่ำมากอย่างรวดเร็ว (Voltage Collapse) บริเวณภาคกลางตอนล่าง ซึ่งอาจส่งผลทำให้ไฟฟ้าภาคใต้ดับทั้งหมดได้ และหากเกิดกรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างมากกับประเทศไทยทั้งในภาคประชาชน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม จึงขอเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ระบบส่งไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวมีความพร้อม และความมั่นคงมากที่สุด

สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับเหตุการณ์ดังกล่าวประกอบด้วย 1) เตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าในภาคใต้ทุกเครื่อง 2) ตรวจสอบอุปกรณ์ระบบส่งให้มีความพร้อมใช้งาน 3) ประสานงานจัดเตรียมแผนย้ายโหลด หรือแผนดับไฟร่วมกับ กฟภ. สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินอื่นๆเพิ่มเติม 4) จัดเตรียมแผนการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ (Demand Side Management) 5) เจรจาซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย 100-300 MW 6) ปรับแผนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องกับข้อจำกัดระบบส่ง และ 7) ปรับปรุงระบบป้องกันพิเศษ (RLS)รองรับปัญหาแรงดันไฟฟ้าต่ำบริเวณภาคกลางตอนล่างจากกรณี หม้อแปลง Tie 500/230 kV ที่ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบางสะพาน 2 Trip

“สายงานระบบส่ง ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในภาคใต้ซ้ำรอยขึ้นอีก ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากไม่เกิดเหตุการณ์อื่นซ้ำซ้อนขึ้นมา ระบบส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้จะสามารถส่งไฟฟ้าได้เป็นปกติ โดยสายงานระบบส่งจะดูแลระบบส่งไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป” นายสุธน กล่าวในที่สุด

ข้อมูล : Created on Wednesday, 20 November 2013 13:35 : EGAT

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑