Guest Relation

NEWS

Published on เมษายน 3rd, 2014 | by Divali

0

กฟผ.มองการณ์ไกลคิดลงทุนนำเข้าก๊าซ LNG ใช้ในโรงไฟฟ้า

กฟผ.มองโอกาสในธุรกิจก๊าซ LNG-ถ่านหิน เล็งเป็นเจ้าของแหล่งไว้ป้อนโรงไฟฟ้าในเครือ ตั้งรับก๊าซอ่าวไทยหมด คาดศึกษาแล้วเสร็จปี′60

นายรัมย์ เหราบัตย์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กฟผ.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจเชื้อเพลิงต้นน้ำ ทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อทดแทนและรองรับกรณีที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดลงในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG มาทดแทนมากขึ้น และศึกษาโอกาสในธุรกิจถ่านหินเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan) ฉบับปัจจุบัน รวมกำลังผลิต 4,000 เมกะวัตต์

สำหรับการศึกษาโอกาสในธุรกิจก๊าซ LNG ของ กฟผ.นั้น เพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติของ กฟผ. ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง รวมถึงโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลาง คือ โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ และโรงไฟฟ้าในภาคใต้ คือ โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา โรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับการศึกษาโอกาสในธุรกิจนี้จะศึกษาครอบคลุมถึง 1)ลงทุนในแหล่งก๊าซ ซึ่งจะพิจารณาความเสี่ยงด้านลงทุนด้วย เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูง และ 2)ลงทุนเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน คือ ท่าเรือ, คลัง, อุปกรณ์แปลงสภาพก๊าซ LNG จากสถานะของเหลวให้เป็นก๊าซ, ท่อส่งก๊าซ เพราะปัจจุบัน กฟผ.จะเป็นเพียงผู้รับซื้อก๊าซ LNG จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เท่านั้น

“มองว่ามีโอกาสจะลงทุนสร้างท่าเรือ คลัง อุปกรณ์แปลงสภาพขนาดเล็กในพื้นที่ชายฝั่งภาคกลางและภาคใต้ เพื่อรับก๊าซ LNG แล้วแปลงสภาพเป็นก๊าซก่อนส่งให้โรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียงผ่านตามท่อ หรือสร้างท่าเรือรับแอลเอ็นจีในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมทั้งมีแนวคิดจะจับมือกับผู้ซื้อแอลเอ็นจีในประเทศรายอื่น เช่น ปตท. เพื่อเพิ่มปริมาณการซื้อ ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดซื้อขายก๊าซ LNG”

นายรัมย์กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จใน 1-2 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นจะพิจารณาตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ ตามศักยภาพของ กฟผ.ทั้งด้านเงินลงทุนและบุคลากร ซึ่งจะสอดคล้องกับช่วงที่บริษัท ปตท. จำกัด มีแผนที่จะลงทุนก่อสร้างท่าเรือรับ-ส่งก๊าซ LNG ในระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับจากปริมาณ 5 ล้านตัน ให้เพิ่มเป็น 10 ล้านตันภายในปี 2560 นอกจากนี้ยังต้องรอความชัดเจนในการประกาศแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท. เพื่อเปิดเสรีการบริการขนส่งก๊าซทางระบบท่อให้กับเอกชนรายอื่น ๆ (Third Party Access) ว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดก๊าซ LNG ในประเทศอย่างไร

ส่วนโอกาสในธุรกิจถ่านหินได้ศึกษาการลงทุนครอบคลุมการเข้าไปลงทุนซื้อเหมืองถ่านหิน เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และในทวีปแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ กฟผ.ต้องนำเข้าถ่านหินเพื่อนำมาใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ เป็นโครงการแรก ตามแผนโครงการนี้จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2562 ขณะที่การศึกษาจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้และจะต้องมีการลงทุนในช่วง 2559-2560 เพื่อรองรับการผลิตให้ทัน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Please follow and like us:
Pin Share

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑

RSS
Follow by Email