กฟผ.ชี้แจงการเจาะสำรวจสภาพทางธรณีวิทยา บริเวณท่าเทียบเรือและสะพานเชื่อมท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว
กฟผ.ชี้แจงการเจาะสำรวจสภาพทางธรณีวิทยา
บริเวณท่าเทียบเรือและสะพานเชื่อมท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว
ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังดำเนินการศึกษาเพื่อพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยกระบวนการการมีส่วนของประชาชน ตั้งแต่ปี 2556 – ปี 2557 ซึ่งการทำงานมีความคืบหน้าตามลำดับ ซึ่งในช่วงนี้ฝ่ายสำรวจของ กฟผ. มีความจำเป็นจะต้องทำการสำรวจและศึกษาสภาพทางธรณีวิทยาเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบในการศึกษาความเหมาะสมและประกอบการออกแบบเบื้องต้น
สำหรับท่าเทียบเรือและสะพานเชื่อมท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับโครงการ ไม่ใช่การดำเนินการเจาะเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือตามที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงกังวล
โดย กฟผ. จะดำเนินการเจาะสำรวจสภาพทางธรณีวิทยาบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล หน้าคลังน้ำมันบ้านคลองรั้ว ของโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 1 บ้านคลองรั้ว ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่
โดยอยู่ห่างจากแนวสะพานท่าเทียบเรือน้ำมันโรงไฟฟ้ากระบี่มาทางทิศตะวันตก ประมาณ 200 เมตร และมีระยะทางสำรวจห่างจากชายฝั่งออกไปประมาณ 350 เมตร หรือเท่ากับความยาวของท่าเทียบเรือน้ำมันในปัจจุบัน (ตามรูปที่แสดงในแผนที่) จำนวน 11 หลุม ความลึกของหลุมเจาะไม่เกิน 30 เมตร มีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือน
โดยมีกำหนดการจะเริ่มดำเนินการในวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2557 เป็นต้นไป ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการหลุมละประมาณ 3-4 วัน โดยมีการ ใช้เครื่องเจาะสำรวจแบบเจาะหมุน ติดตั้งบนแพขนานยนต์ เจาะผ่านชั้นดินและชั้นหินพร้อมทั้งเก็บตัวอย่างโดยใช้กระบอกเก็บตัวอย่างที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 76 มิลลิเมตร หรือประมาณ 3 นิ้ว ทำการเก็บตัวอย่างต่อเนื่องตลอดความลึกของหลุมเจาะเพื่อศึกษาสภาพทางธรณีวิทยาในแต่ละหลุม
สำหรับมาตรการในการป้องกันผลกระทบกับสภาพแวดล้อมในขณะปฏิบัติงาน นั้นทีมงานเจาะสำรวจ กฟผ. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการเจาะสำรวจที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับทั่วไป
จึงไม่ก่อให้เกิดมลภาวะที่เป็นพิษกับท้องทะเลและอากาศในพื้นที่ปฏิบัติงานและบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะหน้าผิวดินใต้ท้องทะเลเพราะเป็นการเจาะโดยวิธีหมุนก้านเจาะลงไปเก็บตัวอย่างดินและหิน ที่ทำให้เกิดเพียงรูหลุมเจาะขนาดกว้างประมาณ 3 นิ้ว เท่านั้น จึงไม่ทำให้หน้าผิวดินใต้ท้องทะเลในบริเวณพื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น
อีกทั้งยังจัดทำถาดเหล็กขนาดใหญ่สำหรับรองไว้ใต้เครื่องเจาะและปั๊มน้ำเพื่อรองรับการรั่วซึมของน้ำมันที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยเพื่อป้องกันการรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลอีกชั้นหนึ่งด้วย และจะไม่มีผลกระทบกับหญ้าทะเลซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของหอยชักตีน และแนวประการังที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ
เนื่องจากได้มีการตรวจสอบจากภาพถ่ายดาวเทียมและแผนที่แสดงที่อยู่อาศัยของหญ้าทะเลและแนวประการังของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) (มอ.) ที่ได้จัดทำขึ้นไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2555 แล้วพบว่าอยู่ห่างจากพื้นที่ปฏิบัติงาน ไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร
สำหรับการขออนุญาต นั้นกฟผ. ได้เข้าชี้แจงและทำหนังสือขออนุญาตในการดำเนินการเจาะสำรวจสภาพทางธรณีวิทยา บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล หน้าคลังน้ำมันบ้านคลองรั้วของโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 1 บ้านคลองรั้ว กับทางสำนักงานเจ้าท่าจังหวัดกระบี่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พร้อมทั้งได้เข้าพบชี้แจงและขอคำแนะนำจากทางสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 27 (เหนือคลอง) รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการดำเนินการเจาะสำรวจสภาพทางธรณีวิทยา บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล หน้าคลังน้ำมันบ้านคลองรั้วของโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 1 บ้านคลองรั้ว นั้น กฟผ. ได้ชี้แจงและแจ้งข้อมูลให้ผู้นำชุมชนฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายก อบต. ตลิ่งชัน รับทราบล่วงหน้าแล้ว และพร้อมที่จะให้ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองท้องถิ่น ประชาชน สื่อมวลชนรวมทั้งผู้ที่มีความห่วงกังวล และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับดำเนินงานในครั้งนี้ เข้าร่วมสังเกตุการณ์การปฏิบัติงานของทีมงานเจาะสำรวจ กฟผ. ได้ตลอดเวลา
โดยขอให้แจ้งล่วงหน้าผ่านมายังเจ้าหน้าที่ กฟผ. ที่ประจำอยู่ที่คลังน้ำมันบ้านคลองรั้ว หรือ นายชัยยศ หาญอมร เพื่อที่ทีมงานเจาะสำรวจ กฟผ. จะได้พาลงไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บนแพขนานยนต์ และร่วมตอบข้อซักถาม เพื่อความโปร่งใส และความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน